ธุรกิจไอทีของเมืองไทยยังไม่เหมือนของสหรัฐอเมริกา เพราะธุรกิจไอทีของเราไม่ได้เป็นภาคการผลิต แต่เป็นภาคการบริการ เป็นธุรกิจแบบรับจ้างทำของ ธุรกิจกินสัมปทาน และธุรกิจซื้อมาขายไป
ถ้าหากเราคิดจะทำให้ธุรกิจไอทีของเมืองไทยให้เป็นแบบที่สหรัฐอเมริกาเป็น เราก็จำเป็นจะต้องคิดถึงนวัตกรรมก่อน จากนั้นก็คิดเรื่องของเงินทุน เพราะนวัตกรรมสำคัญมากในตอนต้น ส่วนเงินทุนสำคัญมาก ๆ ๆ ๆ ในตอนกลาง
จริง ๆ แล้วการระดมทุนเพื่อตั้งตัวในธุรกิจไอที ต้องดำเนินไปเป็นขั้นเป็นตอนอย่างน้อย 4 ระดับ อันได้แก่
- ระยะตั้งตัว ให้ระดมทุนจากหุ้นส่วน เพราะการขายฝันให้นายทุนในระยะนี้ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้เงินทุน เนื่องจากนายทุนเป็นพวกขี้งกและขี้ระแวง เขาไม่มีทางยอมให้ตังค์กับกิจการอะไรซักอย่างหนึ่ง ที่เขามองแล้วไม่เข้าใจ แถมวิเคราะห์อนาคตไม่ออกอีกต่างหาก
- ระยะถีบตัว ให้ระดมทุนจากนายทุน เพราะการขายฝันให้นายทุนในระยะนี้เริ่มจะเป็นไปได้ เนื่องจากธุรกิจของเราพ้นระยะตั้งตัวมาแล้ว สามารถประคองตัวได้แล้ว มีรูปแบบที่ชัดเจน มีฐานลูกค้าที่แน่นหนา ถึงตอนนี้ นายทุนจะเริ่มเข้าใจธุรกิจมากขึ้น และมองเห็นช่องทางที่จะกอบโกยผลตอบแทนจากธุรกิจได้ จึงมีโอกาสที่จะหยิบยื่นเม็ดเงินให้ตามที่ร้องขอ
- ระยะทรงตัว ให้ระดมทุนจากสถาบันการเงิน เพราะสถาบันการเงินน่ะเรื่องมาก จะไม่ยอมปล่อยกู้ง่าย ๆ ถ้าไม่มีงบการเงินที่มีตัวเลขสวย ๆ ให้เชยชม เพราะเขาถือว่ารู้หน้าไม่รู้ใจ การจะเชื่อใจธุรกิจใด ๆ ซักครั้งจึงจำเป็นต้องใช้หลักฐานประกอบ ซึ่งหลักฐานที่ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้นงบการเงิน
- ระยะขยายตัว ให้ระดมทุนจากมหาชน หรือก็คือการนำหุ้นออกเร่ขายให้กับประชาชนทั่วไปนั่นเอง ซึ่งหากธุรกิจของใครมาถึงระยะนี้ได้ นั่นแสดงว่ามีความปลอดภัยสูงในการระดมทุนแล้ว ขอเพียงมีการนำเสนอข่าวในแง่ดีและมีความเป็นไปได้ในการสร้างผลตอบแทน ใคร ๆ ก็จะยอมควักเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยไม่จำเป็นต้องมีการค้ำประกัน หรือต้องจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยใด ๆ ทั้งสิ้น ขอเพียงทำให้ราคาหุ้นทะยานขึ้นไปเรื่อย ๆ และจ่ายเงินปันผลให้สมน้ำสมเนื้อก็พอแล้ว
เสียดาย เมืองไทยเราขาด “ระยะถีบตัว” ไป จึงทำให้เกือบทุกกิจการที่เข้ามาตั้งตัวในธุรกิจไอที ต้องเริ่มจาก “ระยะตั้งตัว” แล้วกระเสือกกระสนเข้าสู่ “ระยะทรงตัว” โดยไม่มีจุดแวะพักให้หายใจหายคอกันเลย
ป.ล. ที่สหรัฐอเมริกา พวกนายทุนที่ซื้อฝัน นอกจากจะยอมให้เงินทุนแล้ว ยังช่วยจัดหาสถานที่ทำงาน, บริหารจัดการส่วนผู้ถือหุ้น, จดทะเบียนบริษัท และจัดโครงสร้างองค์กรให้ด้วยนะเอ้อ ซึ่งของเมืองไทยเรา แค่นายทุนยอมให้เงินทุน ก็ถือว่าเป็นบุญอักโขแล้วว่ะ
ธุรกิจไอทีอย่างที่คุณไท้กล่าวถึงเป็นแนวไหนครับ
นวัตกรรม(เชิงประยุกต์), ที่ปรึกษา, รับทำซอฟต์แวร์ตามใบสั่งหรือโครงการประมูล
นวัตกรรมนั้นน่าสนใจแต่ตลาดในประเทศและต่างประเทศนั้นยากคนละแบบ
สองอย่างหลังส่วนใหญ่เป็นพวก CRUD + ต่อยอดเฟรมเวิร์ค ซะมาก
สั้น กระชับ แต่ได้ใจความมากๆเลยครับ