ตำแหน่งชำนาญการของนักวิชาการคอมพิวเตอร์

ปรกติแล้วคนที่สอนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัย มักจะมีตำแหน่งทางวิชาการกัน เช่น อาจารย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์, รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์ เป็นต้น ตำแหน่งพวกนี้มักมีเงื่อนไขว่าต้องสอนหนังสือกี่ชั่วโมงบ้างล่ะ ต้องเขียนบทความบ้างล่ะ ต้องแต่งตำราบ้างล่ะ หรือ ต้องทำวิจัยโน่นนี่นั่น เพื่อให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการเหล่านี้มา ทีนี้ มหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งก็เริ่มออกนอกระบบมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ เปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยของรัฐ มาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สามารถหาเงินใช้เองได้ ไม่ต้องแบมือขอเงินหลวงมาเลี้ยงตัวเองอีก กำลังจะกลายเป็นเอกชนกลาย ๆ ว่าอย่างนั้น

ดังนั้นก็เลยมีการเปิดกว้างมากขึ้น โดยให้บุคลากรต่าง ๆ ในสายสนับสนุน สามารถที่จะทำโน่นนี่นั่นแบบที่พวกสายวิชาการทำได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง ชำนาญการ, เชี่้ยวชาญ และ เชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งมีระดับชั้นตามลำดับเทียบได้กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์, รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์ ในสายวิชาการ!!!

ในทางกฎหมายแล้ว “นักวิชาการคอมพิวเตอร์” ถือเป็นตำแหน่งในสายงานวิชาชีพใน “สายสนับสนุน” และเป็น “กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ” เป็นกลุ่มในระดับเดียวกับ แพทย์, ทันตแพทย์, สัตว์แพทย์, เภสัชกร, พยาบาล, วิศวกรไฟฟ้า, วิศวกรเครื่องกล, วิศวกรโยธา, สถาปนิก เป็นต้น

ดังนั้น ความโหดเคี่ยวในการขอตำแหน่ง ชำนาญการ, เชี่ยวชาญ และ เชี่ยวชาญพิเศษ จึงไม่แพ้กับสายวิชาการ เพราะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีคุณสมบัติพอที่จะได้รับตำแหน่งที่ว่า ซึ่งวิธีพิสูจน์ทราบก็มีเพียงปลายทางเดียวนั่นคือ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม!!!

ส่วนต้นทางในการพิสูจน์ทราบนั้น ก็มีได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็น การแต่งตำรา, การแต่งหนังสือ, การแปลหนังสือ, การประดิษฐ์คิดค้น, การแสดงนิทรรศการ, การเขียนบทความวิชาการ เป็นต้น ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น จะต้องถูกประเมินแล้วว่าเป็นผลงานระดับ “ดี” ขึ้นไป ไม่ใช่ไก่กา แถมผลงานยังต้องถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชน และที่สำคัญจะต้องทำอย่างน้อย 3 เรื่อง/ชิ้นขึ้นไป เพื่อจะเสนอขอตำแหน่งชำนาญการ, เชี่ยวชาญ และ เชี่ยวชาญพิเศษ!!!

มันเหมือนกับการที่นักศึกษาปริญญาตรี ต้องทำปริญญานิพนธ์ 3 เรื่องเพื่อยื่นในคราวเดียว สำหรับขอจบเป็นบัณฑิตเพื่อให้ได้รับปริญญาบัตร 1 ใบ อะไรประมาณนั้นเลยทีเดียวเชียว!!!

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *