ผมมักเข้าไปอ่านในกระทู้พันธ์ทิพย์บ่อย ๆ ครับ ก็มีแวะไปที่ Tech Exchange บ้างเหมือนกัน ที่นั่นนอกจากมีกระทู้ร้อนแรงประเภทว่าค่าแรงของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ควรเป็นเท่าไหร่ดี? ก็ยังมีอีกหัวข้อนึงที่ร้อนแรงไม่แพ้กันนั่นก็คือ … Computer Engineering กับ Computer Science อันไหนดีกว่ากัน หรือ Computer Engineering กับ Computer Science ควรเลือกเอ็นสะท้านเข้าอย่างไหนดี
ตั้งกระทู้แบบนี้ก็ทะเลาะกันน่ะสิครับ ความเห็นงี้ยาวเป็นหางว่าวเลย ซัดกันนัวเนียทีเดียว ผมล่ะหน่าย อ่านทีไรทำใจทุ้กที
ผมล่ะคันมือยิบ ๆ อยากจะบอกพวกที่ทะเลาะกันเหลือเกินว่า การจะเห็นว่าอะไรดีกว่าอะไร หรือจะเลือกอะไร ๆ ที่ว่านั่นน่ะ เราต้องทำความเข้าใจรากเหง้าของมันซะก่อน เราถึงค่อยตัดสินใจ ว่าแล้วผมก็ทำรูปมาให้ดูเลยเพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า คอมพิวเตอร์คือเครื่องมืออิเลกทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง ซึ่งอิเลกทรอนิกส์จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยไฟฟ้า โอเคมั้ย งั้นเริ่มเลย
(สำหรับคนที่ไม่เข้าใจตัวย่อ จะขออธิบายดังนี้ วศบ. คือ วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต, วทบ. คือ วิทยาศาสตร์บัณฑิต และ บธบ. คือ บริหารธุรกิจบัณฑิต)
จากภาพจะเห็นว่าระบบเครื่องกลกับระบบไฟฟ้าจะมีความเกี่ยวข้องกัน เพราะระบบไฟฟ้าสามารถสั่งงานให้มอเตอร์หมุนได้ และระบบเครื่องกลก็เป็นไดนาโมหมุนให้เกิดระบบไฟฟ้าขึ้นมาได้ (เอ่อ ผมก็รู้อ่ะครับว่าทุกวันนี้เมืองไทยเราตะบี้ตะบันเผาถ่านหินกับเผาน้ำมันมาใช้ปั่นไฟให้เราอ่ะครับ ซึ่งอันนั้นผมถือว่าเป็นระบบเคมีอ่ะครับ ขอถือว่าเป็นอีกประเด็นแล้วกัน)
ระบบเครื่องกลเป็นงานของคนจบวิศวกรรมเครื่องกล ในขณะที่ระบบไฟฟ้ากำลัง เป็นงานของคนที่จบวิศวกรรมไฟฟ้า ใช่แมะ? ที่สำคัญเด็กไฟฟ้าก็รู้วิธีในการใช้ไฟฟ้าควบคุม stepping motor ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดพลังในการทำให้เครื่องจักรกลทำงาน (อันนี้เป็นหลักการของการควบคุมหุ่นยนต์เลยนะเนี่ย)
แต่เนื่องจากว่าการที่เราจะควบคุมไฟฟ้ากำลัง แต่เพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ก็เลยต้องมีระบบอิเลกทรอนิกส์ขึ้นมา เพราะระบบอิเลกทรอนิกส์เป็นระบบควบคุมสัญญาณไฟฟ้า และตัวของระบบเองก็แปลงกำลังไฟฟ้ามาเป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อหล่อเลี้ยงเช่นกัน ซึ่งคนที่จบวิศวกรรมอิเลกทรอนิกส์มา ย่อมรู้ดีว่าจะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังไง เพื่อให้ระบบไฟฟ้ากำลังทำงานอย่างที่ตัวเองต้องการ
ทีนี้ระบบอิเลกทรอนิกส์ก็ก้าวหน้ามาก จนมนุษย์เราสามารถสร้างคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องมืออิเลกทรอนิกส์ที่สลับซับซ้อนขึ้นมาจนได้ ซึ่งจุดเปลี่ยนมันก็อยู่ตรงที่คอมพิวเตอร์มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เขียนโปรแกรมควบคุมมันได้อีกทอดนึง ดังนั้นระบบฮาร์ดแวร์เชื่อมประสานกับระบบซอฟต์แวร์ก็เลยกลายเป็นงานของคนที่จบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผู้ซึ่งมีความเข้าใจในพื้นฐานของสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์, มีความเข้าใจในระบบอิเลกทรอนิกส์ และมีความเข้าใจในภาษาคอมพิวเตอร์ (ซึ่งเป็นภาษาเครื่องของคอมพิวเตอร์นั้น ๆ) ดังนั้นหน้าที่ในการสร้างซอฟต์แวร์เพื่อควบคุม และสื่อสารกับคอมพิวเตอร์และฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นบทบาทของวิศวกรคอมพิวเตอร์ไปโดยปริยาย
ในโลกนี้มีโจทย์ตั้งมากมายรอให้แก้ไขอยู่ ตั้งแต่โจทย์ง่ายแสนง่าย ไปจนถึงโจทย์ยากมหาหิน ซึ่งโจทย์ส่วนใหญ่จะแก้ไขได้รวดเร็วมาก หากเราประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยแก้ไขให้ ดังนั้นจึงเป็นงานของคนที่จบวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่จะคิดค้นทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งทำหน้าที่เขียนซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ตามทฤษฎีที่มีการคิดขึ้นมา
จะเห็นว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราก็จะได้บทสรุปในระดับหนึ่งแล้วว่า Computer Engineering กับ Computer Science มันต่างกันตรงไหน
ทีนี้เรามาดูในสังคมการศึกษาของไทยเรา อย่างที่เรารู้กันว่าคะแนนเอ็นสะท้านของวิศวะจะสูงปรี๊ด ๆ ๆ ๆ ๆ มาก ๆ ในขณะที่ของวิดยาอยู่กลาง กล๊าง กลาง หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ คนสติปัญญาดีจะไปเรียนวิศวะกันเยอะนั่นเอง
เรื่องเรียนหนังสือมันก็เรื่องหนึ่งครับ เรื่องของการจ้างแรงงานในระบบอุตสาหกรรมของไทยก็อีกเรื่องหนึ่ง จากภาพที่ผมวาดไว้ข้างบนจะเห็นว่า ระบบฮาร์ดแวร์ + ซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นงานโดยตรงของคนจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์นั้น มีการต่อเชื่อมอย่างใกล้ชิดกับระบบอิเลกทรอนิกส์ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ วิศวกรคอมพิวเตอร์จะได้ทำงานตรงกับบทบาทของตัวเองได้ หากอุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์ของไทยเราขยายตัวอย่างสมเหตุสมผลเหมือนประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ
แต่ก็อย่างที่เรารู้กันว่าประเทศไทยเรา เป็นเซียนทางด้านการนำเข้าระบบอิเลกทรอนิกส์ทั้งปวง อีกทั้งเราก็เป็นเซียนเรื่องการประกอบอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์อีกต่างหาก ไอ้เรื่องจะมาวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์ สงสัยต้องรอไปอีกนาน
มันจึงทำให้ทุกวันนี้คนจบทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ต้อง downgrade apply ตัวเอง ลงมาทำงานของคนที่จบวิทยาการคอมพิวเตอร์ครับ เช่น งานพัฒนาซอฟต์แวร์อัจฉริยะ, งานพัฒนา search engine, งานพัฒนา speech recognition, งานพัฒนา OCR ฯลฯ ซึ่งจริง ๆ แล้วงานพวกนี้เป็นงานของคนจบวิทยาการคอมพิวเตอร์เค้า
ทางคนจบวิทยาการคอมพิวเตอร์เองก็สาหัสไม่แพ้กันครับ เนื่องจากว่าระดับสติปัญญาก็สู้คนจบวิศวะไม่ได้อยู่แล้ว ซ้ำร้ายยังถูกแย่ง segment ของตัวเองไปอีกต่างหาก ก็เลยต้อง downgrade apply ตัวเองเหมือนกัน ลงไปทำงานพวกซอฟต์แวร์ ERP, CRM, ซอฟต์แวร์บัญชี, ซอฟต์แวร์พัสดุ ฯลฯ ซึ่งจริง ๆ แล้วงานพวกนี้เป็นงานของคนจบคอมพิวเตอร์ธุรกิจเค้า
ทีนี้คงไม่ต้องพูดถึงคนจบบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจนะครับ ว่าเขาจะต้อง downgrade apply ลงไปทำอะไร !!!
จะเห็นว่าหากอุตสาหกรรมของประเทศ ขยายตัวอย่างสมเหตุสมผลตามสภาวการณ์ที่มันควรจะเป็น ชนชั้นแรงงานอย่างพวกเรา ก็จะได้ยืนอยู่บน segement ของตัวเองได้อย่างมีความสุขและไม่มีปัญหาครับ
ป.ล. ผมเองก็จบวิทยาการคอมพิวเตอร์ครับ ไม่ได้คิดจะกล่าวกระทบคนจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ครับ ผมพูดตามสภาวะที่เป็นจริงครับ ดังนั้น อย่าโกรธผมเลยนะคร้าบบบบบได้โปรด
[tags]วิศวกรรมเครื่องกล, วิศวกรรมไฟฟ้า, วิศวกรรมอิเลกทรอนิกส์, วิศวกรรมคอมพิวเตอร์, วิทยาการคอมพิวเตอร์, เทคโนโลยีสารสนเทศ, คอมพิวเตอร์ธุรกิจ[/tags]
อธิบายด้วยภาพได้ชัดเจนมากครับ..
นี่ล่ะครับ จุดอ่อนของการศึกษาไทย เรียนเอาคำ (วศ.บ วิดวะ) มาเป็นยี่ห้อคิดกันได้ไง
มีวิศวกรรม แล้วก็น่าจะมี อิศวรกรรม พรหมกรรม ศิวกรรม ด้วยน่ะครับ มันฟังดูเทพๆดี จะได้หลอกเด็ก(เก่งๆ)ไปเรียนกัน 555+
ขอเสริมกะเค้าด้วยคนแม้ว่ามันจะสายไปมากแล้วก็ตาม
ในความเห็นของผม คำว่าซอฟท์แวร์ ไม่สมควรผูกติดกับวิทยาการคอมพิวเตอร์มากเกินไป ซอฟท์แวร์ น่าจะเป็นสาขาของ วิศวกรรมซอฟท์แวร์ ในขณะที่ วิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องทางทฤษฎีคอมพิวเตอร์ทุก ๆ เรื่อง เสียมาก น่าจะดูเชื่อมโยงกันได้มากขึ้นอีกหน่อย การศึกษามันเป็นเพียงเครื่องมือขึ้นต้นที่ดี ที่แต่ละคนจะเลือก อาวุธดีไม่พอครับ คนใช้ต้องรู้จักใช้ด้วย
ผมของแจงรายละเอียดระหว่างวิศวะคอมกับวิทยาศาสตร์คอมนะครับ ที่ได้เห็นมาจะมหาลัยผมนะครับ ที่อื่นอาจจะไ ม่เป็น เอาเป้นมุมมองนะครับ
ด้านสังคมนะครับ ผมเห็นว่าเด็กวิทยาศาสตร์คอมจะค่อนสนใจเรียนเท่าไร และสติปัญญาในการเีรียนรู้สู้เท่าเด็ิกวิศวะไม่ได้ ส่วนเด็กวิศวะจะมีสังคมที่ตั้งใจเรียนมากกว่าและเรียนรู้ได้เร็ว
ด้านหลักสูตรนะครับ
ด้านวิทยาศาสตร์นะครับ ผมเห็นหลักสูตรสอนเน้นไปทางด้านยโปรแกรมเยอะแต่ว่าอ่อนทางด้านคณิตศาสตร์ครับ เห็นสอนหลายภาษามาก
ด้านวิศวะนะครับ เรื่องคณิตศาสตร์ไม่ต้องพูดถึง และส่วนเรื่องภาษาที่สอนในการเขียนโปรแกรมสอนอยู่ภาษาเดียว แต่ว่าจะสอนให้เีขียนโปรแกรมแก้ปัญหาเลย ไม่มาสอนเรื่อง OO มาอย่างไงไม่มีครับ รู้แค่ว่า syntax มันเป้นอย่างไงแล้วก็ใส่เลย และวิศวะเค้าจะเรียนด้าน embeded ลึกกว่า
สรุป
คนที่เรียนวิทยาศาสตร์คอมจะได้แนวคิดในการพัฒนามากกว่า แต่ว่าเด็กวิศวะไม่คิดอะไรมาก เค้าสังให้ทำอะไรอะ ก็ทำให้ออกมาได้ก็พอ ทฤษฏีไม่ต้องมาก
อ่าน comments แล้วเหนื่อยกว่าอ่านบทความอีก แต่ก็อยากมาเม้นต์ด้วยคนน่ะ การแสดงความคิดเห็น คุณๆ พี่ๆ น้า อาทั้งหลายก็ต้องเข้าใจว่าคนเขียนมีโอกาศแสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกับที่คุณๆทั้งหลายเขียนกัน ผมว่าพี่ไท้แกก็ไม่ตั้งใจจะไปว่าสาขาอะไรดีไม่ดี แต่เราว่ากันตามสภาพสังคม(๑) และจากสถิติ(๒) อันนี้ทุกคนเรียนสายคอมมา งูๆ ปลาๆ ก็เข้าใจน่ะว่าสถิติเป็นตัวแทนของกลุ่มข้อมูลซึ่งไม่ได้ชี้ชัดไป
ยกตัวอย่าง จากทั่วๆ ไป แล้ว คะแนนวิศวะ สูงกว่า วิทย์คอม จริงครับ ถ้าคุณอ้างตามสถิติน่ะ แต่ถ้าคุณเล่นมาว่า คนจบอะไรเก่งกว่า มันจะเฉพาะเจาะจงไปรึเปล่าอย่างนี้หาคนที่จบแต่ละสาขา ที่เก่งที่สุดในโลกมาแข่งกันดีกว่า แต่เนี่ยะสถิติแบบ common ที่รู้ๆกันไม่ต้องไปเอาตัวเลขทศนิยมมากล่าว เห็นใจคนเขียนหน่อย
อีกเรื่องมันก็เป็นการวางหลักสูตร(๓)ว่าให้แต่ละสาขาเรียนเน้นเรื่องใด แน่นอนทุกสายมันก็คอม แต่เน้นด้านใดอ่ะ นี่ละประเด็น ตัวพื้นๆ ทุกคนก็เรียนเหมือนๆ กันใช่ป่ะ แต่บางรายวิชามันก็ต้องแยกตามสาขา คำว่าเก่งกว่าใครนั้นต้องมองงานที่ทำ(๔) และ ความรู้ความสามารถบวกประสบการณ์(๕) เปิดพจนาฯเองว่ามันหมายความว่าอะไร แน่นอนว่าการเรียนในห้องเรียนไม่สามารถทำให้คุณเก่งได้หากไม่ใฝ่หา(๖) อย่างผมนี่แหละ ทำไรไม่เป็น แต่สภาพสังคมก็อีกแบบ เมื่อ อุปสงค์ตั้งไว้ว่าต้องการจบ วิศวะ แล้วคุณเป็นอุปทาน วิทย์คอม หรือ กลับกัน อุปสงค์คือ วิทย์คอม อุปทานคือวิดวะ มันก็ตรงตามหลักเศรษฐ์ศาสตร์ เขาต้องการอะไร เขาเป็นคนกำหนด ก็ไม่ได้บอกว่าใครแย่งใครซักหน่อย เก่งจริง เราก็แสดงออกมาเป็นผลงานเลยครับ เขาเห็น เขาก็ยอมรับ
สรุปง่ายๆ ดีกว่าสุดท้ายก็ไม่มีใครดีกว่าใครไปครับ พี่ไท้แกอ้างตามสถิติทั่วไป อย่างบางคนเอาแค่สถาบันเดียวมันเป็นตัวแทนที่แคบไป คุณลองมองไปทั้งประเทศ ทั้งโลกดูดิ ไม่ได้เข้าข้างใครครับ แต่มันก็เป็นอย่างนี้ตามสภาวะการณ์ใครจะเถึยงก็อ้างอิงเป็นตัวเลข แหล่งข้อมูลไปเลยดีกว่า อืมเหนื่อยแหะ
สุดท้ายก็ขออภัย หากล่วงเกินใครก็ตาม แต่ก็ดีครับมีการถกเถียงปัญหา จะได้ความก้าวหน้า ไม่หยุดคิดว่าปัจจุบันดีที่สุด
อ่า ไม่จริงทั้งหมดครับ
แรงไหม
…..
ทุกอย่าง คือ ความเห็น ไม่ใช่ความจริง
computer engineering -> ไม่ใช่ programmer จริง ดังนั้นโปรแกรมมิ่งไม่เก่งเลย เจอมาแล้ว ยิ่ง engineering สาขาอื่น โปรแกรมผิดบ่อยมาก อาศัยเร็ว หัวไว (เพราะเก่งคณิต และไม่คิดมาก) งานเร็วบ้าง บั๊กพอควร
computer science -> programmer เรื่อง programming เก่ง เทคนิคเยอะ ตกม้าตาย เพราะคิดเรื่อง dev technique มาก ทำให้ตอบโจทย์ software ได้ไม่ค่อยดี
สรุป
เด็กวิศวะ เขียนโปรแกรมไม่เก่ง ข้อดี หัวไว
เด็กวิทยา เขียนโปรแกรมเก่ง เทคนิคเยอะ ข้อเสีย คิดมาก เรื่องมาก
อื่นๆ ไม่ต้องพูดถึง
ประเด็นไม่ใช่ใครหัวดีกว่าใคร ประเด็นคือความเชี่ยวชาญ สำคัญกว่า
คนเก่ง ฉลาด ไม่มีจริง มีแต่ใครรู้มาก รู้น้อย ทักษะมาก ทักษะน้อย
คิดเยอะ คิดน้อย เรื่องมาก เรื่องน้อย ปล่อยวางมาก ปล่อยวางน้อย
กระทู้ ออกมาในเชิง เหยียดหยาม ไม่สมควรสร้างกระแสเรื่องดังกล่าว
ไม่สร้างสรรค์…
ทำไมถึงคิดว่า วิศวะ มีระดับสติปัญญาสูงกว่าวิทยาการคอม ทั้งที่ comsci เรียนเน้นทางด้านความคิดพัฒนาทฤษฎีและpure math ต่างกับวิศวคอมอยู่นะ ผมว่าคนไทยและผู้ประกอบการมีความเข้าใจผิดอยู่มาก ดังนั้นควรจะแก้ไขปัญหาที่จุดนี้
ครับ ไม่ใช่ไปบอกว่าใครฉลาดกว่าใคร
เอามาชี้วัดไม่ได้หรอกครับว่าวิศวะจะหัวดีกว่าวิทย์คอม วิศวะบางกลุ่มก้าวจาก ปวช ปวส ก็มีนะครับ
วิศวะจากเอกชน
วิทย์คอมจากรัฐ
คนไม่ชอบวิศวะ อยากเรียนวิทย์คอม
คือ มันไม่เป็นบัญญัติไตรยางค์หรอกครับ
ไหนๆก็ผ่านมาจะครบสี่ปีแล้วรื้อฟื้นให้พี่ไท้หน่อย แหะๆ 😀 ผมชอบประเด็นนี้มากครับ ดราม่าดี แต่คนโดนอย่างพี่ไท้อาจไม่ชอบ แฮ่ๆ ทุกวันนี้ก็ยังเถียงกันไม่จบ ผมฮาตรงนี้ล่ะ 😛
พูดให้ตายก็ไม่จบครับ เพราะบ้านเราค่อนข้างได้รับอิทธิพลจากความอยากเจริญมาเยอะ เลยเลียนแบบเขา แต่เอามาไม่หมด ที่มีอยู่ก็ยังไม่ดี เลียนแบบก็กลายเป็น apply เป็นตัวเอง จนไม่เหลือเค้าเดิม (แล้วจะเอามาทำไม -_-“) กลายเป็นจากแนวคิดสุดเจ๋งที่แยกสามงานด้านคอมฯชัดเจน พอผ่านกาลเวลาไป com eng, com sci, IT แทบจะรวมเป็นร่างเดียว ในรายวิชาตอนเรียนอาจต่างกันบ้าง แต่พอไปทำงานจริงกลายเป็นปรับสภาพไปตามงานที่มีให้ทำ..
เห็นด้วยกับพี่ไท้น่ะครับ ตอนอ่านก็เข้าใจดีว่า ไม่ได้พยายามจูงให้คนไปเชื่อว่าที่พี่บอกคือแยกว่ามีชนชั้น แต่กำลังบอกว่า หลายคนกำลังเลือกที่จะเชื่อว่า วิศวะ > com-sci > IT (ผมไม่ได้คิดเองนะ แต่คนเรียนน่าจะรู้สึกบ้างเล็กน้อย แม้ไม่ใช่จากตัวเองก็คนรอบข้างที่คิดแบบนี้)
ทั้งที่พี่ไท้ และคนที่ทำงานสายนี้ต่างรู้ดีว่า จริงแล้วมันแตกต่างกันชัดมาก เอาไปเปรียบไม่ได้เลย เหมือนคนนึงสร้างหุ้นยนต์ อีกคนทำโปรแกรมบังคับหุ่นยนต์ อีกคนนำไปใช้+ขายให้ลูกค้า ถ้าเอาสายงานสามคนนี้มาเปรียบกันก็แปลกพิลึก
สุดท้ายเก่งไม่เก่ง ถูกไม่ถูก เราในฐานะมนุษย์ทำงานไม่ใช่ผู้ควบคุมระดับบนของประเทศ คงทำไรไม่ได้ นอกจากทำไปให้ดีเท่าที่มืออาชีพจะเป็นได้ 😀
ผมว่าต้องแยกแยะประเด็นให้ออกก่อนนะครับ ในเรื่องของ ศาสตร์ ที่เรียน และ งานที่คนจบการศึกษาแต่ละศาสตร์เลือกทำเพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง คนจบวิศวะ จะไปเขียนโปรแกรมก็ไม่แปลก ถ้าชอบและสามารถ หรืออาจจะไปเล่นดนตรีก็ได้ ถ้าชอบและสามารถ
ดังนั้นงานที่คนจบแต่ละสาขาเลือกไปทำนั้น ไม่จำเป็นจะต้องตรงกับสาขาที่เรียนเสมอไป เพียงแต่สาขาที่เรียนนั้นเป็นหลักประกันพื้นฐานว่าคนคนนั้นมีความรู้ในเรื่องที่ได้เล่าเรียนมาตามสมควร ศาสตร์บางสาขานั้นมีเนื้อหาในการเรียนกว้างขวาง ครอบคลุมหลายเรื่อง ดังนั้นเมื่อจบสาขานั้นๆก็จะทำให้สามารถมีต้นทุนที่จะทำให้เชื่อได้ว่ารู้ในหลายเรื่อง เลือกงานทำได้หลายอย่าง และเป็นเรื่องปกติที่ผู้สมัครงานก็จะสมัครงานที่จะต้องการได้งาน หากงานใดเห็นว่าตนมีความรู้ก็สมัครไป ส่วนจะได้ทำหรือไม่คือผู้ประกอบการ
ในทางกลับกัน ก่อนที่เขาจะรับใครเข้าทำงานเขาก็คงต้องเลือกคนที่เหมาะสมที่ สุดสำหรับงานของเขา ไม่มีข้อห้ามใด ว่าจบโน่นแล้วทำนี่ไม่ได้ จบวิศวะห้ามเขียนเว็บ จบวิทยาศาสตร์ห้ามทำเมคาทรอนิกส์ เพราะงานส่วนใหญ่ ก็ต้องศึกษากันใหม่เกือบทั้งนั้น แต่บริษัทเขาย่อมจะเลือกคนที่ดูว่า ทำงานให้เขาได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่น ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกและถูกเลือกเท่าเทียมกัน ใจเขาใจเราครับ เราอยากได้งานดีเงินดี ผู้ประกอบการก็อยากได้คนเก่งที่คุ้มค่าเงินเดือนเหมือนกัน
ปัญหาประการสำคัญคือ เรากล้าที่จะยืนหยัดหรือไม่ว่า เรามีความสามารถมากกว่า ใบปริญญา ที่ได้มา ถ้าได้ดังนี้ จะวิศวะ หรือ วิทยาศาสตร์ บริหารธุรกิจก็ไม่สลักสำคัญอะไร แสดงให้เห็นว่า “ผมทำได้เพราะผมมีความสามารถ” ไม่ใช่”ผมทำได้เพราะผม จบทางนี้มา” เพราะท้ายที่สุด บริษัทก็จ้างคนไปทำงาน ไม่ได้เอาใบปริญญาไปทำงาน ความรู้ที่เราเรียนในมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆเท่านั้น ไม่ได้สลักสำคัญอะไร การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด
ผมเข้าใจเอาเองว่าด้วยลักษณะการคัดเลือกคนเข้าเรียนแต่ละสาขาในมหาวิทยาลัยนั้น ทำให้บางสาขาจะได้คนที่มีความเก่งมากกว่าบางสาขา ซึ่งมีหลักฐานในเชิงประจักษ์จากคะแนนการคัดเลือก ระดับความยากของการเรียนแต่ละสาขา และความรับรู้จากผลงานที่ปรากฎตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ ที่คนโดยทั่วไปจะยอมรับว่า เด็กทีเรียนวิศวะนั้นเป็นเด็กเรียนเก่ง ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการจะเลือกคนเข้าทำงาน เขาต้องการคนเก่งมาทำงาน และไม่ต้องการเสียเวลาในการทดสอบด้วยตัวเอง จึงมีแนวโน้มจะเลือกจาผู้สมัครจาก คณะ หรือ มหาวิทยาลัยที่คะแนนดีเข้ามา จริงๆไม่ได้จะเอาความรู้ที่เรียนมาใช้สักเท่าไหร่ แต่จะเอาคนเก่งมา เพราะคนเก่งย่อมจะสันนิษฐานว่า สามารถเรียนรู้ได้ และมีพัฒนาการได้ ในประสบการณ์ผม ก็ประสบพบเจอเป็นประจำที่ คนจบวิศวะมาแต่มานั่งทำงานด้านการวางแผนทางการเงินและเก่งในเรื่องที่เขาทำมากๆ ทั้งที่ไม่น่าจะมีสอนในวิศวะ
ที่เขียนมาก็เพื่ออยากจะแลกเปลี่ยนว่า อย่าไปยึดติดว่า คนจบสาขานั้นต้องทำงานนี้ เราจบสาขานี้ต้องทำงานนี้สิ ถ้าเรามีความสามารถเสียอย่างปริญญาอะไรก็เป็นเรื่องรอง สาขาที่ไกล้เคียงกัน ทำงานข้ามกันไปกันมาได้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะรากฐานมาจากเรื่องเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนใน คณะที่คะแนนดี มหาวิทยาลัยที่คะแนนดี นั้นเป็นหลักประกันเบื้องต้นให้ สังคม”เชื่อได้ว่า” เราผ่านกระบวนการคัดเลือกที่ดีมาพอสมควร และย่อมมีข้อได้เปรียบมากกว่า แต่ยังไงก็อย่าลืมฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ความชำนาญจริง ไม่ใช่อาศัยแค่ใบปริญญามาเป็นใบเบิกทางอย่างเดียว
ส่วนเรื่อง Computer Engineering และ Computer Science ต่างกันอย่างไรนั้นคงไม่ใช่เรื่อง ฮาร์ดแวร์อะไรนั่นหรอกครับ จริงๆแล้วปรัชญาอันเป็นจุดมุ่งหมายของแต่ละศาสตร์นั้นแตกต่างกัน (ไม่ได้หมายความว่าศาสตร์ใหนดีกว่าศาสตร์ใหน) แต่เขียนไปคงยาว
อ่า…ผมจบวิทยาการคอมครับ สู้ครับ ทุกอย่างอยู่ีที่ตัวเราครับ^^
พี่ไท้เละ
ผมชอบรูปและการอธิบายความรับผิดชอบในแต่สาขานะครับ แต่ช่วงสรุปที่พูดเรื่อง downgrade เนี่ย…
“เนื่องจากว่าระดับสติปัญญาก็สู้คนจบวิศวะไม่ได้อยู่แล้ว”…ระดับสติปัญญาวัดกันที่คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเหรอครับ?
ชัดเจนมากเลยครับกับการแบ่งคนในมุมมองของผู้ใหญ่หลายๆคนในสังคมเกี่ยวกับการแบ่งชนชั้นของเด็กรุ่นถัดๆไปนะครับ
ขอบคุณมากๆเลยครับ
ผมจะได้อธิบายให้คนอื่นฟังได้ดีกว่าเดิมเวลาที่เพื่อนๆหลายๆคนมาถามผมว่า
“ทำไมไม่เรียนวิศวะคอมล่ะ คะแนนตอนสอบเข้า ก็สูงกว่าเพื่อนที่เรียนม.ปลายด้วยกันที่เข้าวิศวะนิ?”
ผมจะได้ตอบแบบเต็มปากเต็มคำไปว่า
“อ๋อ เพราะ IQ ผมต่ำ สติปัญญาผมสู้เขาไม่ได้ หัวผมมันช้าครับ :)”
ทั้งๆที่จริงๆผมแค่ไม่อยากจะเรียนซ้ำกับพี่ของตัวเองก็แค่นั้น
ปลูกความเชื่อแบบนี้กันต่อไปนะครับ ประเทศเราจะน่าอยู่ยิ่งขึ้น 🙂 สู้ๆครับ
ผมขอเพิ่มเติมไว้หน่อยครับ เพื่อมีคนมาอ่าน
ผมขอมองโดยตั้งต้นที่อุตสหกรรมหรือตลาดงานในไทยก่อน เนื่องจากประเทศไทยไม่มีบริษัทที่เป็นต้นน้ำของเทคโนโลยีพวก CPU, RAM, Mainboard, Shipset, Hard disk ฯลฯ มีแต่บริษัทผลิตที่เน้นใช้แรงงานฝีมือ ดังนั้นพวกที่จบ Computer Engineering เลยไม่มีงานรองรับ ทำให้ต้องหันมาเขียนโปรแกรม พัฒนาโปรแกรมโดยเน้นเทคนิคทางวิศวกรรม (Software Engineering) ซึ่งตลาดงานในไทยมีรองรับมากกว่า มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดงาน บวกกับค่านิยมคนไทยที่ให้ความสำคัญกับวิศวะ มากกว่า นักวิทยาศาสตร์
หากเป็นต่างประเทศหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยจะเป็น “Electrical and Computer Engineering” เนื่องจากจบมาก็มีบริษัทอย่าง Intel, AMD หรือบริษัทที่เน้น Hardware จะมีงานรองรับพวกที่จบ Computer Engineering
ส่วนพวกที่ทำงานโปรแกรมจริงๆ เช่นพนักงานในบริษัท Google, Facebook, Twitter เป็นต้น คนพวกนี้จะจบ Computer Science เกือบจะ 100%
ไม่จึงไม่แปลกเลยที่หลักสูตรในประเทศไทยจะคลุมเครือหรือสายงานคาบเกี่ยวกัน หรือทดแทนกัน เพราะมหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดงานในประเทศ เพื่อจะได้การันตีว่านักศึกษาจบมาแล้วมีงานทำ
สุดท้ายก็วัดกันที่ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญตอนทำงานนั่นแหละครับ เกรด มหาวิทยาลัย ก็เป็นแค่ first impression ตอนยื่นสมัครงานเท่านั้น