ตอนนี้ผมรู้สึกว่ากิจการด้าน AI ของประเทศมหาอำนาจโลก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตะวันตก คือ สหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิสราเอล หรือ ฝ่ายตะวันออก คือ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างรุดหน้ากันไปมาก
โดยเฉพาะจีนและสหรัฐมีความโดดเด่นสูงเป็นพิเศษ!
ถ้าเป็นการคิดค้นทฤษฎีพื้นฐานด้าน AI และจำนวนกิจการด้าน AI ถือว่าสหรัฐเป็นต่อจีนอยู่หลายขุม
แต่ถ้าเป็นการประยุกต์ด้าน AI เชิงพาณิชย์ระดับมวลชน ถือว่าจีนทำได้ดีกว่าสหรัฐมาก มีการนำเสนอข่าวออกมาอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะข่าวการพัฒนาด้าน Computer Vision และ Image Processing
ส่วนในเรื่องงบประมาณของภาครัฐนี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทางจีนและสหรัฐต่างก็อัดงบประมาณกันเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นผู้นำในด้านนี้ ซึ่งในเรื่องเงินต้องถือว่าจีนเป็นต่อสหรัฐอยู่หลายขุม เพราะจีนรวยจากการค้าขาย แต่สหรัฐรวยจากการกู้ยืมเงิน
วกกลับมาที่ไทย ตอนนี้กิจการด้าน AI ของไทยจะคล้าย ๆ จีน คือ เน้นประยุกต์เชิงพาณิชย์ระดับมวลชน โดยเอาทฤษฎีและเครื่องมือที่ถูกคิดค้นแล้วของประเทศมหาอำนาจโลกมาต่อยอด แต่ผลงานก็ยังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เช่น สถาบันการเงิน หรือ บริษัทด้านโทรคมนาคม ที่มีเม็ดเงินมากพอในการดึงดูดนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ด้านนี้ได้ ส่วนบริษัทเล็ก ถ้าหากจะทำด้านนี้ ก็ต้องรับงานที่แบ่งจากบริษัทใหญ่อีกต่อหนึ่ง
ตอนนี้หน่วยงานภาครัฐของไทยกำลังยุ่งกับการปรับกระบวนการด้านไอที และเทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์อยู่ ดังนั้น เงินงบประมาณมันจะเทไปทางเหล่านั้นมากกว่า จนผมไม่คิดว่าภายในสองถึงสามปีนี้ ภาครัฐจะเทเงินมาทางด้าน AI ซึ่งก็หมายความว่าบริษัทเล็กที่ก่อตั้งขึ้นเพื่องานด้าน AI จะมีชีวิตอยู่รอดได้ ก็โดยการรับงานที่แบ่งจากบริษัทใหญ่ไปพลางก่อน และก็สะสมทุนไปเรื่อย ๆ จนกว่าภาครัฐจะเริ่มหันมาสนใจทาง AI
เมืองไทยยังไม่มีบริษัท AI ขนาดใหญ่ ดังนั้น หากภาครัฐเริ่มเทงบมาทางนี้ ผมคิดว่าบริษัทเล็กก็มีโอกาสเข้าร่วมการคัดเลือกได้ และถ้ายิ่งบริษัทไหนมีประสบการณ์เยอะ โตเร็ว ก็ยิ่งมีโอกาสชนะการคัดเลือกไปเรื่อย ๆ และมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแวดวงภาครัฐ
มันเป็นเรื่องของธุรกิจและความอยู่รอด ผมคิดว่ากิจการ AI ของไทยแค่รับงานมาทำ โดยการหยิบยืมเอาทฤษฎีและเครื่องมือที่ถูกคิดค้นแล้วของประเทศมหาอำนาจโลกมาต่อยอด ก็หมดเวลาแล้ว คิดไม่ทันทำไม่ทันแล้ว ดังนั้น เรื่องจะคิดค้นทฤษฎีหรือเครื่องมือเอง คงต้องตั้งหลักกันอีกพักนึงเลยล่ะ