ตอนนี้มองไปรอบ ๆ ตัว ใคร ๆ ก็ออนไลน์ขึ้นอินเทอร์เน็ตกันทั้งนั้น ทั้งใช้เพื่อความบันเทิง ใช้เพื่อสื่อสาร และ ใช้เพื่อจับจ่ายใช้สอย
ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ใช้งาน เวลามีโจทย์เขาจะคิดกันก่อนว่าสิ่งประดิษฐ์นั้น มันเอามาใช้ได้มั้ย มันใช้ยังไง มีประโยชน์หรือเปล่า โดยข้ามความคิดไปเลยว่าเบื้องหลังความสำเร็จที่ใช้งานจริงได้ของสิ่ง ๆ นั้น มันมีเทคโนโลยีอะไรรองรับอยู่ และมีกลไกการทำงานเป็นยังไงบ้าง
ผมเป็นคนส่วนน้อย ผมตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ ผมเข้าสู่สังคมออนไลน์ช้ามาก ๆ เพราะผมสนใจสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล ผมคิดถึงความปลอดภัย ผมคิดเยอะ และทุกครั้งที่มีการปรากฎขึ้นของเทคโนโลยีออนไลน์ ผมก็มักคิดอยู่เสมอในเรื่องเหล่านี้
มันมีเทคโนโลยีรองรับสิ่งเหล่านี้อยู่หลายชิ้นส่วน แต่ล่ะชิ้นส่วนก็ซับซ้อนในตัวมันเอง ทุกชิ้นส่วนล้วนมีทฤษฎีรองรับ มีงานวิจัยรองรับ มีมาตรฐานต่าง ๆ รองรับ พอมีสิ่งต่าง ๆ รองรับ ก็ยังต้องมาทำให้ใช้จริงได้ด้วยวิธีการหลายอย่าง ซึ่งล้วนยุ่งยากทั้งนั้น
ความเป็นสังคมออนไลน์ที่ทำทุกอย่างได้ด้วยเวลาที่อึดใจ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ชัด ไม่รู้รายละเอียด ว่าสิ่งรองรับเบื้องหลังสังคมออนไลน์ มันซับซ้อนและยากขนาดไหน
คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าการประชุมออนไลน์ ถูกสร้างขึ้นมาได้ยังไง และใช้งานส่วนประกอบอะไรบ้าง?
คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าการโอนเงิน ชำระเงินออนไลน์ ข้ามธนาคาร หรือข้ามระหว่างค้าปลีกยักษ์ใหญ่กับธนาคาร ถูกสร้างขึ้นมาได้ยังไง และใช้งานส่วนประกอบอะไรบ้าง?
คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าหน้าบ้านที่เป็นแอปบนมือถือ กับหลังบ้านที่เป็นแอปบนคลาวด์มันสื่อสารประมวลผลกันยังไง และใช้งานส่วนประกอบอะไรบ้าง?
และด้วยความที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง ทำให้คนส่วนใหญ่เมื่อมีสิ่งเหล่านี้ให้ใช้งาน คนส่วนใหญ่จะละเลยความคิดไปว่า มันมีช่องโหว่นะ มันอาจล่ม มันอาจไร้ประสิทธิภาพ และมันไม่ได้ทำขึ้นมาง่าย ๆ
เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่ามันอาจล่ม มันอาจไร้ประสิทธิภาพ แล้วพอมันเกิดเหตุขึ้นมา พวกเขาจะหัวเสีย อารมณ์เสีย
เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่ามันซับซ้อน มันยาก มันมีหลายส่วนประกอบ แล้วพอมันไม่ทำงานอย่างถูกต้อง หรือผู้ดูแลแก้ไขปัญหากันช้า พวกเขาจะหัวเสีย อารมณ์เสีย และเข้าใจไปว่าทุกอย่างมันง่ายไปหมด
เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่ามันมีช่องโหว่ แล้วเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เกิดภัยคุกคามข้อมูล พวกเขาจะหัวเสีย อารมณ์เสีย และไม่ได้โทษว่าตัวเองก็ต้องรับผิดชอบครึ่งนึงเหมือนกันที่วางใจการออนไลน์นั้น ๆ
ความเข้าใจที่คิดว่า มันทำขึ้นมาง่าย มันต้องใช้งานง่าย มันต้องทำได้รวดเร็ว ทำได้อย่างถูกต้อง และทำได้อย่างปลอดภัย เลยกลายเป็นประชานิยมด้านสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน มันเหมือนการระบาดทางความคิด และถ้าใครอยากมีภูมิคุ้มกันความคิดแบบนี้ ก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง
การสร้างภูมิคุ้มกันบนสังคมออนไลน์ที่ดีที่สุดคือ ให้คิดว่ามันไม่ปลอดภัย มันพึ่งพาไม่ได้ไปตลอด ดังนั้น เราต้องระวังตัวเอง และไม่พยายามผูกขาดการพึ่งพากับมัน
ถ้าไม่จำเป็นอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับมัน ให้เมื่อจำเป็นจริง ๆ
ถ้าทำได้ให้มองหาวิธีแก้ปัญหาอื่น ๆ บ้าง อย่าพึ่งพามันเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเกิดพึ่งมันไม่ได้ ก็จะได้มีวิธีอื่นบรรเทาปัญหาได้บ้าง
ผมคิดว่าผู้ประกอบการใหญ่ คงไม่หยุดสังคมออนไลน์แน่ ๆ พวกเขาจะผลักดันมันมากกว่านี้อีก เพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี สอดคล้องกับประชานิยมแบบใหม่ ๆ และสนับสนุนความมั่นคงรูปแบบใหม่ของสังคมมนุษย์
ดังนั้น เราก็ต้องสร้างภูมิให้กับตัวเองครับ เหมือนกับการกินอาหารเสริมนั่นแหล่ะ ที่กินน้อย ๆ แต่ไม่ต้องกินบ่อยครับ