เนื่องจากมาพักหลังนี้ผมเขียนซอฟต์แวร์น้อยลงครับ และต้องใช้เวลาในการจัดกำลังพล, ติดต่อประสานงาน และทำแผนงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งครับ ที่ผมจะต้องมานั่งศึกษาดูว่า อะไรกันหนอ เป็นกุญแจหลักที่จะทำให้ซอฟต์แวร์ที่เราจะสร้างขึ้น ประสบผลสำเร็จให้ได้มากที่สุด

แล้วผมก็ได้คำตอบครับ สิ่งนั้นก็คือคน หรือก็คือบุคลากรในโครงการเดียวกับเรานั่นเอง

ผมได้ใช้ประสบการณ์จากการทำงาน มาแบ่งคนที่ต้องทำงานร่วมกับผมครับ เพื่อผมจะได้เข้าอกเข้าใจพวกเขาเหล่านั้น รวมถึงรู้ว่าจะทำงานกับพวกเขายังไง และจะใช้พวกเขาให้ทำงานให้ผมยังไงได้บ้าง

ในแวดวงคนสร้างซอฟต์แวร์นั้น ถ้าเราจะแบ่งทักษะก็คงได้หลายร้อยข้อ ผมจึงแบ่งทักษะของคนเหล่านั้นออกมาเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ตามภาพด้านล่างครับ

สามเหลี่ยมแห่งทักษะ

ภาพข้างบนนี้ผมเรียกว่าเป็น “สามเหลี่ยมแห่งทักษะ” ครับ โดยแบ่งทักษะออกเป็น

  • ธุรกิจ หมายถึงว่า คนดังกล่าวมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ หรือประยุกต์ใช้ได้โดยระบบคอมพิวเตอร์ คนพวกนี้จะรู้ว่าธุรกรรมจะต้องดำเนินไปยังไงบ้าง ต้องพิมพ์รายงานกี่แผ่น กระดาษกี่ชุด ต้องเซ็นที่ไหน ดำเนินการทางกฎหมาย บัญชี การเงินยังไง เป็นต้น
  • ระบบ หมายถึงว่า คนดังกล่าวมีทักษะที่เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นระบบฐานข้อมูล, ระบบ Server, ระบบเชื่อมโยงระหว่างซอฟต์แวร์, ระบบเครือข่าย, ระบบการสื่อสารข้อมูล เป็นต้น
  • เทคนิค หมายถึงว่า คนจำพวกที่ลงลึกทางการปฏิบัติงานอย่างเดียว โดยจะรับผิดชอบและรู้ลึก ๆ ในงานที่ตนเองทำอยู่ สนใจแต่กล่องสี่เหลี่ยมของตนเอง และจะทำมันให้ดีที่สุด

จะเห็นว่าเรามีสามเหลี่ยม อันหมายถึงทักษะสามด้าน นั่นก็หมายความว่า เราสามารถแบ่งคนที่มีทักษะร่วมทั้งสามด้านที่ว่านี้ได้เป็น 8 ประเภท ดังรูปข้างล่าง

สามเหลี่ยมแห่งทักษะร่วม

ประเภทของคนที่ทักษะทั้ง 8 แบบสามารถอธิบายได้ดังนี้ครับ

  • ไร้ทักษะ (Nothing) – คนเหล่านี้ไม่มีทักษะอะไรเกี่ยวกับแวดวงในการพัฒนาซอฟต์แวร์เลยครับ แต่ไม่ใช่ว่าเค้าไม่เก่งนะ เค้าอาจจะเก่งเรื่องอื่น แต่ไม่ใช่เรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์แน่ ๆ
  • โปรแกรมเมอร์ (Programmer) – เทคนิคล้วน ๆ ครับ ทักษะของเขาเป็นเลิศในงานของตนเองครับ คนพวกนี้เวลาพูดอะไร ก็เป็นภาษาทางเทคนิคไปซะหมด จึงไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ ที่จะพาไปพูดคุยกับลูกค้า หรือผู้ใช้ระบบ
  • นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) – เป็นบุคลากรที่รู้ระบบคอมพิวเตอร์ครับ และรู้วิธีการพูดจากับลูกค้าครับ งานหลัก ๆ จะหมดไปกับการเขียน Functional Specification เพื่อทำเป็นพิมพ์เขียวให้โปรแกรมเมอร์ทำงานต่อไป ฐานะงานนี้เป็นที่หมายปองของคนเป็นโปรแกรมเมอร์มาก เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเงินเดือนดี แต่จริง ๆ แล้วจะเป็นได้คนเป็นโปรแกรมเมอร์ต้องหักดิบ ทิ้งทักษะของตัวเองถึงจะมาเป็นได้ครับ แต่ดูเหมือนโปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่จะยังไม่รู้
  • ผู้ประสานงานโครงการ (Project Co-Ordinater) – รู้ธุรกิจล้วน ๆ ครับคนพวกนี้ พูดเก่งอีกต่างหาก แถมชอบไปสัญญิงสัญญากับคนโน้นคนนี้ด้วย ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้ระบบหรือเทคนิคอะไร
  • วิศวกรขาย (Sale Engineer) – นี่ปลาไหลเลยครับ ใบข่อยรูดบางทีก็เอาไม่อยู่ คนพวกนี้จะรู้ธุรกิจและเทคนิค เทคนิคแพรวพราวมาก ประมาณว่าลูกค้าถามมาตอบได้ เทคนิคสบาย ธุรกิจไหลลื่น
  • วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer) – ผมชอบคนประเภทนี้ที่สุดครับ เพราะรู้ทั้งระบบและเทคนิค ดังนั้นคนประเภทนี้จะเข้าอกเข้าใจนักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือว่าโปรแกรมเมอร์มาก ๆ เพราะเคยผ่านร้อนผ่านหนาวทางด้านนี้มาแล้ว อีกทั้งก็รู้ระบบด้วย ทำให้ง่ายต่อการไปคุยกับโปรแกรมเมอร์จ้าวอื่น ๆ ที่ระบบของตัวเองต้องไปต่อเชื่อมด้วย
  • ผู้จัดการโครงการ (Project Manager) – ส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะเป็นเจ้านายของเรา ๆ ท่าน ๆ เนี่ยแหล่ะ ในหัวคนพวกนี้จะมีแต่ธุรกิจกับระบบ ไม่เคยสนใจเรื่องทางเทคนิค พอเรามีปัญหาทางเทคนิคเขาก็ช่วยอะไรเราไม่ค่อยได้ แต่เขาดันรู้แน่ะว่าระบบของเราไปเกี่ยวอะไรกับใครบ้าง พวกนี้เงินเดือนเยอะมากกกกกกกกกก
  • พระเจ้า (God) – ให้ตายสิ ผมทำงานมาสิบปีแล้ว ยังไม่เคยเห็นเลย ว่าจะมีใครรู้ทั้งธุรกิจ, ระบบ และเทคนิคได้อย่างลึกซึ้ง ขนาดคนที่ทำงานผมมีแต่ดอกเตอร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรื่อยไปจนถึงศาสตราจารย์ ก็ไม่เห็นใครจะรู้ทักษะของสามเหลี่ยมทั้งสามด้านนี้อย่างลึกซึ้งเลย

แล้วคุณล่ะ เป็นคนแบบไหนในสามหลี่ยมแห่งทักษะนี้?

Related Posts

8 thoughts on “สามเหลี่ยมแห่งทักษะ

  1. อยากได้โปรแกรมบัญชีอ่ะครับ
    เป็นเว็บเบสหรือปล่าว
    ฟรีไหมครับ
    แม่ผมไม่รู้เรื่องบัญชีเลยจะพอใช้ได้ไหมครับ

  2. PeeTai Nominal เป็นของฟรีครับ สร้างขึ้นตามระบบบัญชีรายวันทั่วไปทุกประการ

    แต่มีข้อเสียร้ายแรงอยู่สองข้อ ซึ่งผมยังไม่ได้เพิ่มกลไกให้ นั่นก็คือ

    1. มัน Import / Export ข้อมูลไม่ได้ครับ จึงไม่สะดวกในการนำมาทำรายงาน
    2. มันเป็นระบบบัญชีรายวันล้วน ๆ ครับ จึงยังไม่มีกลไกบัญชีลูกหนี้, บัญชีเจ้าหนี้แบบเต็มรูปแบบครับ ดังนั้นเรื่องระบบ Billing, Clearing, Reconsile และการจัดการกับ Open Item นี่ไม่มีแน่ ๆ ครับ

    ต้องทำความเข้าใจอย่างนึงว่า ระบบบัญชีรายวันทั่วไป เป็นพื้นฐานเพื่อต่อยอดไปยังระบบบัญชีอื่น ๆ ครับ ลำพังตัวมันเองก็ใช้ทำงานได้ครับ ถ้าไม่ต้องการกลไกอะไรเพิ่มเติม

    ถ้าคุณแม่มีความรู้เรื่องบัญชีรายวัน ซึ่งก็คือบัญชีสองขา สามารถใช้ได้ครับ แต่ถ้าคุณแม่รู้แต่การลงรายการรับจ่าย เห็นจะไม่ได้ครับ เพราะคนจะลงบัญชีรายวันทั่วไปได้ ต้องเข้าใจหลักการทางบัญชีครับ

    สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน และ กำไรสุทธิ = รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ต้นทุน ครับ

  3. พี่ค่ะว่างๆ น้องขอปรึกษาการเขียนโปรแกรมบ้างได้ไหมค่ะ ตอนนี้ปวดหัวกับมันมากเลย พี่ค่ะตอนนี้น้องเครียดมากเลยเกี่ยวกับเรื่องฝึกงาน พี่ช่วยแนะนำให้ได้ไหมค่ะ น้องเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ค่ะ ขอบคุณมากๆๆๆ

  4. สามเหลี่ยมแห่งทักษะ จริงครับ

    ขอบคุณสำหรับ บทความดีๆ
    ดูแล้วตอนนี้ผมยังอยู่ในพวก programmer

  5. ฝึกงานไม่ถือว่าเป็นเรื่องหนักครับ ไม่จำเป็นต้องปวดหัวกับมัน ทำงานน่าปวดหัวมากกว่าครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *