สารสนเทศคือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ผ่านการกลั่นกรองหลาย ๆ ครั้งจนได้อรรถประโยชน์สูงสุด เท่าที่ผมรู้มา สารสนเทศเป็นทรัพยากรที่ยิ่งใช้จะยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งต่างจากทรัพยากรทางกายภาพและชีวภาพ ที่ยิ่งใช้จะยิ่งลดลงเรื่อย ๆ
สมัยก่อนทรัพยากรทางกายภาพและชีวภาพ ล้วนถูกผูกขาดโดยรัฐเสมอ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้, เหมืองแร่, แหล่งน้ำมัน, สัตว์ป่า, สัตว์ทะเล, การเก็บรังนกนางแอ่น, การทำเหล้า, การทำยาสูบ เป็นต้น
ทรัพยากรเหล่านี้ภาครัฐมีอำนาจถือครองอยู่เต็มที่ อีกทั้งก็ไม่เคยคิดจะดำเนินการกับทรัพยากรเหล่านี้ด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของ “สัมปทาน”
สัมปทาน คือ การที่ภาครัฐทำสัญญาผูกขาดกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง เพื่อให้สิทธิ์ในการหาประโยชน์แก่เอกชน โดยมีการจำกัดระยะเวลา และเมื่อเอกชนได้ผลประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวแล้ว นอกจากจะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว ก็ต้องจ่ายผลประโยชน์ส่วนหนึ่งให้กับภาครัฐเป็นงวด ๆ ตามสัญญาด้วย
ยุคนี้สัมปทานผูกขาดเริ่มถูกผ่อนคลายลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยต้องทำตามข้อตกลงการค้าเสรีทั้งกับองค์การการค้าโลก และกับประเทศต่าง ๆ ผ่านทาง FTA ทำให้การเข้าถึงทรัพยากรทางกายภาพและชีวภาพ เริ่มเปิดกว้างให้เอกชนหลาย ๆ รายสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
แต่บังเอิญว่าตอนนี้เป็นศักราชแห่งสารสนเทศ ดังนั้นถึงแม้ว่าภาครัฐจะเริ่มผ่อนคลายทรัพยากรทางกายภาพและชีวภาพแล้วก็ตาม แต่กับทรัพยากรทางสารสนเทศนั้น ภาครัฐก็ยังคงยึดกุมอยู่ หวงแหน ไม่ยอมปล่อยง่าย ๆ
เคยสังเกตุมั้ยครับว่าปัจจุบันนี้นั้น ภาครัฐได้ถือครองทรัพยากรสารสนเทศ ซึ่งเป็นดั่งขุมทรัพย์สารสนเทศเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น …
- ข้อมูลทะเบียนราษฏร์ของประชาชนทั้งประเทศ
- ข้อมูลการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ, ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล, ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด
- ข้อมูลงบการเงินของนิติบุคคล
- ข้อมูลการเลือกตั้ง
- ข้อมูลอาชญากรทั่วประเทศ
- ข้อมูลหมายเรียก, หมายจับของตำรวจทุกท้องที่
- ข้อมูลคดีความที่อยู่กับสำนักอัยการสูงสุด, ศาลสถิตยุติธรรม, ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ
- ข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ
- ข้อมูลเอกสารแสดงสิทธิ์ที่ดินทั่วประเทศ
- ฯลฯ
เยอะครับจาระไนไม่หมด จะเห็นว่าข้อมูลพวกนี้เป็นสารสนเทศอันมีค่ามาก ใคร ๆ ก็อยากจะเข้าถึงข้อมูลพวกนี้ทั้งนั้น และก็เพราะมันมีค่ามากเช่นนี้นี่เอง เราจึงเริ่มค่อย ๆ เห็นบริษัทหลายบริษัทที่เคลื่อนไหวเข้าหาข้าราชการหรือนักการเมือง เพื่อขอทำธุรกิจผูกขาด เพื่อหาผลประโยชน์จากข้อมูลพวกนี้
เราจะเห็นว่าการได้ผูกขาดกับขุมทรัพย์สารสนเทศเหล่านี้ มีต้นทุนในการประกอบกิจการที่ต่ำมาก ต่ำกว่าการที่บริษัทโทรคมนาคมได้สัมปทานคลื่นความถี่จากภาครัฐซะอีก เพราะบริษัทโทรคมนาคมยังต้องตั้งเสารับส่งสัญญาณก่อน จึงจะสามารถประกอบกิจการได้ แล้วเสาพวกนี้ก็ต้องตั้งทั่วประเทศด้วย ถึงจะครอบคลุมพื้นที่การให้บริการ
แต่กับกิจการผูกขาดขุมทรัพย์สารสนเทศเหล่านี้ แค่ต่อ Leased Line เชื่อมโยงไปยังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของภาครัฐ แล้วตั้ง Server เพื่อเป็น Broker เอาไว้ ข้อมูลที่ปรับปรุงบ่อย ๆ ก็เอามาจากภาครัฐ ส่วนข้อมูลที่ปรับปรุงไม่บ่อยก็ค่อย ๆ ปั๊มจากภาครัฐมาไว้ที่ฐานข้อมูลของตนเอง
ในส่วนของการจะให้บริการกับลูกค้าก็สามารถทำได้แสนง่าย โดยกระทำผ่านทางเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็ถูกวางไว้ในประเทศไทยหมดแล้ว แค่ตั้ง Web Server เอาไว้ เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึงบริการผ่าน Web Browser ตามหลักการของ Software as a Service แค่นี้เอง ต้นทุนต่ำเหลือเกิน!!!
ผมคิดไม่ผิดนะ ต่อไปบริษัทที่จะรวยอู้ฟู่ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จะกลายเป็นบริษัทที่ได้สัมปทานทรัพยากรสารสนเทศจากภาครัฐ แน่นอนครับ
ป.ล. 1 เมืองไทยยังเป็นระบบทุนนิยมอุปถัมภ์โดยภาครัฐอยู่ครับ ไอ้เรื่องการค้าเสรีการเงินเสรีน่ะ มันยังไม่เหมาะกับเมืองไทยในศตวรรษนี้หรอก
ป.ล. 2 ต่อไป Big Player โลกออนไลน์ อาจจะกลายเป็นพวกบริษัทผูกขาดทรัพยากรสารสนเทศพวกนี้ก็ได้ ใครจะรู้
[tags]สัมปทาน,ทรัพยากรกายภาพ,ทรัพยากรชีวภาพ,ทรัพยากรสารสนเทศ,ขุมทรัพย์,ขุมทรัพย์สารสนเทศ[/tags]
สารสนเทศที่พี่ไท้พูดมามันมีค่าจริงๆครับ ข้อมูลพวกนี้มันเกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน แสดงถึงการมีตัวตนของบุคคลในสังคม ภาครัฐต้องหาวิธีการและเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เพราะมันเกี่ยวกับความมั้นคงของประเทศได้เลยทีเดียว
มันไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเหรอครับ ข้อมูลสารสนเทศที่พี่พูดถึงอ่ะ
อืม นึกถึง The world is flat เลย ที่ outsource การทำเอกสารเกี่ยวกับภาษีในสหรัฐไปยัง India
เห็นบางอย่างปล่อยเป็นสัมปทานออกมาแล้วครับคุณ fatro อย่างข้อมูลทะเบียนนิติบุคคล ตอนนี้บริษัทบิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้สัมปทานมาแล้ว และตอนนี้ก็กำลังให้บริการลูกค้าอยู่ผ่านทาง http://www.bol.co.th
ที่ทำงานผมเองก็ต่อเชื่อมกับกรมการปกครอง เพื่อสืบค้นข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของประชาชนเหมือนกัน
ขุมทรัพย์พวกนี้กำลังถูกปลดปล่อยออกมาในรูปสัมปทานครับ ซึ่งดูเหมือนว่าทางการก็มีนโยบายจะเปิดเผยให้ประชาชนอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ทำเอง แต่ทำในรูปของสัมปทานแทน