ทุน, เทคโนโลยี และ แรงงาน เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับกิจการ งั้นลองมาแจกแจงดูดีกว่าว่ากิจการของสังคมแต่ล่ะยุค ให้น้ำหนักกับปัจจัยการผลิตใดบ้าง?
เดี๋ยวนี้ทุนกับเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งชี้วัดการผลิตแล้ว เพราะใคร ๆ ก็สามารถหาทุนได้ ไม่ว่าจะโดยการเช่า, ยืม, จิ๊ก หรือซื้อแค่บางอย่างก็ตาม ส่วนเทคโนโลยีเองก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะมีคนแต่งหนังสือสอนกันเยอะแยะ หรือไม่บางคนก็สอนกันฟรี ๆ บนอินเทอร์เน็ตก็ยังมี
ปัจจัยชี้วัดในการผลิต และสร้างต้นทุนที่สูงกลับเป็น “แรงงาน” ซะมากกว่า เราจะพบว่าแรงงานในกิจการสารสนเทศจะมีราคาแพงที่สุด ส่วนแรงงานในกิจการอุตสาหกรรมและกิจการเกษตรกรรมจะมีราคาถูกลดหลั่นกันลงมา!!
สาเหตุที่แรงงานในกิจการสารสนเทศมีราคาแพง ไม่ใช่เพราะพวกเขาเรียนจบระดับปริญญาบัตรกันมาแค่อย่างเดียว แต่เป็นเพราะพวกเขาคือส่วนหนึ่งของ “เทคโนโลยี” ของกิจการด้วย!
กิจการสารสนเทศของประเทศไทยเรา เป็นแบบรับจ้างทำของเป็นหลัก ดังนั้น ตัวกิจการเองก็ไม่มี “เทคโนโลยี” อะไรซักเท่าไหร่ ก็เลยต้องใช้แรงงานของกิจการ เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อทำงานให้เสร็จเป็นรูปเป็นร่าง ที่นี้มันก็เลยเกิดปัญหา เพราะแรงงานฯยิ่งทำก็ยิ่งมีประสบการณ์ แต่ประสบการณ์ดังกล่าวมันดันผูกติดไว้กับตัวของแรงงานฯ ไม่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเก็บไว้เป็น “เทคโนโลยี” ของกิจการ ดังนั้น ถ้าวันดีคืนดี แรงงานฯเกิดอยากจะได้ค่าแรงเพิ่มแบบเว่อร์ ๆ เจ้าของกิจการก็ต้องกลั้นใจให้ไป เพราะแรงงานฯดันเป็นผู้ครอบครอง “เทคโนโลยี” ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของสินค้าและบริการของกิจการไปซะนี่
พอเป็นแบบนี้ ก็เลยมีคนคิดสิ่งที่เรียกว่า “Knowledge Management” ขึ้นมา หรือก็คือกระบวนการดึงเอา “เทคโนโลยี” ออกจากตัวแรงงานฯ แล้วผ่องถ่ายออกมาเป็น “เทคโนโลยี” ของกิจการในที่สุด ซึ่งภูมิความรู้ในวิชานี้ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก เพราะยังไงซะ Knowledge Management มันก็ช่วยได้แค่การดึง “ข้อมูล” และ “ความรู้” ออกมาจากแรงงานฯ แต่ยังไม่สามารถดึงเอา “ทักษะ” ออกมาจากแรงงานฯได้อยู่ดี
อีกทั้งเราก็ต้องรับทราบด้วยว่า “เทคโนโลยี” ที่แรงงานฯมีอยู่นั้นเป็นแบบไหน โดยเราต้องแบ่งย่อยออกเป็น
- เทคโนโลยีที่ติดตัวมากับแรงงานฯ คือแรงงานฯมี “เทคโนโลยี” ที่กิจการต้องการอยู่แล้ว กิจการจึงจัดจ้างเข้ามา ซึ่งถ้ากิจการสามารถดึงเอา “เทคโนโลยี” แบบนี้มาเป็นของกิจการได้ ก็ต้องถือว่าประเสริฐที่สุด แต่ก็ชั่วชาติที่สุดเช่นกัน เพราะเอาเปรียบซะเหลือเกิน!!!
- เทคโนโลยีที่กิจการต้องสอนให้แรงงานฯ หรือต้องลงทุนส่งให้แรงงานฯไปเรียน ไอ้แบบนี้ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องดึงเอา “เทคโนโลยี” ออกมาให้จงได้ เพราะถ้าอีตาคนนี้หรือยัยคนนี้ลาออกไป ก็จะกลายเป็นว่าสูญเสียการลงทุนไปฟรี ๆ
- เทคโนโลยีที่แรงงานฯนึกรู้ขึ้นมาเอง จากประสบการณ์ในการทำงานให้กิจการ ซึ่งกิจการก็ควรจะดึงเอา “เทคโนโลยี” มาเก็บเอาไว้เหมือนกัน รวมทั้งจัดหาแนวทางเพื่อให้มีการเผยแพร่ “เทคโนโลยี” ดังกล่าว ให้แรงงานฯคนอื่น ๆ ทราบเป็นวงกว้างด้วย
โดยสรุปแล้ว แรงงานในกิจการสารสนเทศ ซึ่งมีทั้ง “แรงงาน” และ “เทคโนโลยี” รวมผสมเข้าไว้ด้วยกัน จึงถูกนิยามยกชั้นขึ้นมาเป็น “ทุนมนุษย์” และได้ทลายการผูกขาด “ทุน” ของเจ้าของกิจการไปในที่สุด!