ความรู้ที่ทันสมัยที่สุดอยู่ที่ไหน?

สมัยก่อนผมจะกระหายใคร่รู้ในวิทยาการล้ำสมัยเอามาก ๆ และก็จะพยายามดั้นด้นเสาะแสวงหาความรู้ในหนังสือมาอ่านโดยตลอด ซึ่งมันทำให้ผมได้มีความรู้ก่อนใครเสมอ ๆ เรียกว่าเป็นคนบูชาความรู้เลยก็ว่าได้

บางคนอาจจะคิดว่ามีความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอดถมไป อันนี้ก็จริง แต่ผมคิดว่าการได้รู้ในความรู้ มันก็เหมือนกับการที่คนทั่วไปอยากมีอยากได้ทั่ว ๆ ไปนั่นแหล่ะ เพียงแต่สิ่งที่ผมอยากมีอยากได้มันเป็นความรู้เท่านั้นเอง

ทีนี้ถ้าเกิดใครที่เป็นแบบผม คือ กระหายใคร่รู้ในวิทยาการคอมพิวเตอร์อันก้าวล้ำก่อนใคร ๆ แล้วไม่รู้ว่าจะไปเสาะแสวงหาความรู้เพื่อให้ได้รู้ได้จากที่ไหน งั้นผมจะลำดับแหล่งความรู้จากทันสมัยที่สุดไปยังทันสมัยน้อยที่สุดให้ทราบดังนี้

ลำดับที่ 1 Proceeding จาก Conference

เป็นงานวิจัยที่ทันสมัยที่สุดที่จะหาได้จากโลกใบนี้ ซึ่งก็เข้าใจแหล่ะว่ามันอาจจะไม่ทันสมัยเท่ากับงานวิจัยของหน่วยงานรัฐระดับโลกที่มีการปกปิดเป็นความลับ หรือเท่ากับงานวิจัยของบริษัทเอกชนชั้นนำของโลก แต่ก็ให้แน่ใจได้เลยว่ามันจะเป็นอะไรที่ทันสมัยเท่าที่มีการเปิดเผยในโลกใบนี้และมันเป็นอะไรที่ใหม่มาก ๆ จนกระทั่งนักวิจัยต้องรีบเอามานำเสนอก่อนที่จะมีใครแย่งนำเสนอสิ่งที่คิดค้นได้ไปก่อน

ลำดับที่ 2 Journal

งานวิจัยใน Journal จะช้ากว่า Proceeding เพราะงานวิจัยลำดับนี้ จะต้องผ่านการทบทวนโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายครั้ง หนำซ้ำอาจจะต้องมีการสอบถามผู้วิจัยอีกหลายหนจนกว่าจะแน่ใจให้ตีพิมพ์ได้ ซึ่งวิทยาการคอมพิวเตอร์มันเป็นอะไรที่เร็วมาก การมานำเสนอใน Journal จึงถือว่าช้ากว่า เพราะใช้เวลาทบทวนหลายเดือนจนถึงเป็นปี และก็กลายเป็นไม่ทันสมัย เพราะสิ่งที่กำลังรอนำเสนอใน Journal อาจจะมีงานวิจัยที่เหมือนกันถูกนำเสนอตัดหน้าไปใน Proceeding ไปแล้วก็เป็นได้ ซึ่งมันก็จะทำให้กลายเป็นว่างานวิจัยที่กำลังจะนำเสนอใน Journal มีสภาพเป็นของเก่าไม่ทันสมัยไปในบัดดล แต่ความเห็นส่วนตัวของผม ก็ยังมองว่าความรู้ใน Journal ก็ยังใหม่อยู่ถ้าเอาไปเปรียบกับการประยุกต์ใช้จริงในโลกอุตสาหกรรม

ลำดับที่ 3 Textbook

Textbook ก็คือหนังสือภาษาอังกฤษนั่นแหล่ะ ซึ่งปรกติแล้ว ถ้าวิทยาการคอมพิวเตอร์ใดมันเริ่มถูกวิจัยเพื่อแก้ปัญหาไปได้มากแล้ว เป็นอะไรที่เริ่มเสถียร เริ่มนิ่ง เริ่มพอจะเอาไปรวบรวมเป็นหมวดหมู่เพื่อนำเสนอและนำไปประยุกต์ใช้ได้แล้ว เมื่อนั้นแหล่ะ Textbook ถึงจะเริ่มออกมาได้ และถ้าเราอ่านเนื้อหาดี ๆ ก็จะพบว่า Textbook มันไม่ต่างจาก Review Article เลย ต่างกันก็เพียงแต่ Textbook จะพยายามลงรายละเอียดในทุกขั้นตอนให้คนอ่านได้เข้าใจโดยไม่ต้องมาเสียเวลาตีความอะไรอีก ซึ่งถ้านับความทันสมัยแล้ว พอความรู้มันกลายมาเป็น Textbook ความรู้นั้นก็ถือว่าเก่าแล้วล่ะในแง่ของวงการวิจัย แต่มันเป็นอะไรที่ใหม่กิ๊กสุด ๆ เลยล่ะสำหรับคนนอกงานวิจัยที่ไม่เคยรู้จักมันมาก่อน

ลำดับที่ 4 หนังสือไทย

ถ้าลองออกมาเป็นหนังสือไทยได้ ผมบอกเลยครับว่าวิทยาการคอมพิวเตอร์ดังกล่าวล้าสมัยไปมากแล้ว เพราะมีน้อยครับสำหรับเมืองไทย ที่คนแต่งหนังสือไทยจะแต่งหนังสือโดยอ้างอิงจาก Proceeding หรือ Journal เพราะที่เห็นส่วนใหญ่ก็ล้วนอ้างอิงจาก Textbook ด้วยกันทั้งนั้น แบบว่ามันเป็นอะไรที่โอเคกว่า ยิ่งแปลมาจาก Textbook ยิ่งเร็วและง่ายเข้าไปใหญ่ เพราะ Textbook ได้พรรณาทุกอย่าง ๆ เป็นระบบไว้แล้ว หนำซ้ำยังมีรูปภาพสวย ๆ ประกอบให้เรียบร้อยอีกต่างหาก จะแต่งเองทำไมให้เมื่อยตุ้ม ลอกเลยดุ้น ๆ ดีกว่า

ที่สำคัญคือคนเก่ง ๆ ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ เขาไม่ค่อยมีเวลามาแต่งหนังสือกันหรอกครับ เขาเลือกจะเอาเวลาไปทำอะไรอย่างอื่นที่มันได้ตังค์เยอะ ๆ ดีกว่า แล้ววิทยาการคอมพิวเตอร์มันก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก คนสนใจไม่ค่อยมาก ไม่เหมือนกับการแต่งหนังสือวิธีการแต่งรถ หรือวิธีการแต่งหน้าทาปาก ดังนั้น กว่าหนังสือไทยที่เกี่ยวกับวิทยาการคอมพิวเตอร์จะออกมาได้ มันก็เลยกลายเป็นอะไรที่ช้าเข้าไปใหญ่

โดยสรุปแล้ว สำหรับใครที่ใฝ่รู้นะครับ ผมขอแนะนำเลยครับ ไปหา Proceeding อ่านเลย คือ คุณไม่ต้องทำวิจัยก็ได้ แค่คุณอยากรู้คุณก็ไปหาอ่าน แค่นี้คุณก็ได้รู้เร็วเท่าทันระดับโลกเค้าแล้วครับ

(แต่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง มันก็เป็นอะไรที่โคตรน่าเบื่อจริง ๆ นะ)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *