การแก้ปัญหาภาษาไทยบนระบบคอมพิวเตอร์

ผมเข้ามาในวงการคอมพิวเตอร์ ช่วงที่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมีราคาถูกลง ขับเคลื่อนด้วยระบบปฏิบัติการ MS-DOS และสามารถแสดงผลแบบกราฟิกได้ และก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานทางอุตสาหกรรมชั้นนำของไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถนำเข้าข้อมูลเป็นภาษาไทยและแสดงผลแบบภาษาไทยได้

การเกิดขึ้นของ CU Writer ซึ่งเป็นโปรแกรมพิมพ์เอกสารที่ทำงานโดยการเปิดโหมดกราฟิก หรือการเกิดขึ้นของโปรแกรม VThai ซึ่งเป็นโปรแกรมฝังตัวที่ใช้การ Interrupt MS-DOS เพื่อยึดการควบคุมแล้วแสดงผลแบบกราฟิกเพื่อสนับสนุนภาษาไทย ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์ให้กับคนไทยได้อย่างตรงวัตถุประสงค์

ปัญหาตอนนั้นคือ นำเข้าภาษาไทยไม่ได้ แสดงผลภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้น ก็ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด คือให้มันทำให้ได้ ซึ่งตอนนั้น VThai ก็ถือว่าทำได้ดีและมีความแพร่หลาย ใคร ๆ ก็ใช้มัน ซึ่งข้อเสียในเรื่องการแสดงผลก็คงเป็นเรื่องของขนาด เพราะมันแสดงผลได้แค่แบบบิตแมพ ขนาดคงที่ยืดหดไม่ได้

ปัญหาของคนไทย ก็ต้องให้คนไทยแก้ถูกมั้ย? เพราะไม่มีคนชาติไหนจะแก้ปัญหาให้คนไทยได้ นอกจากคนไทยที่ควรจะเข้าใจตัวเองที่สุด!!!

microsoft-80659_640

การเกิดขึ้นของระบบปฏิบัติการสวมทับอย่าง MS Windows 3.0 หรือระบบปฏิบัติการของแท้บริสุทธิ์อย่าง MS Windows 95 ขึ้นไปจนถึง MS Windows 10 ในปัจจุบัน ได้ทำให้การแก้ปัญหาภาษาไทยไม่ใช่เรื่องที่ตั้งต้นโดยคนไทย คนไทยมีส่วนร่วมแต่ไม่ได้ตั้งต้น เพราะการนำเข้าข้อมูลภาษาไทยผ่านแป้นพิมพ์ การแสดงผลภาษาไทยแบบเวกเตอร์ออกทางจอภาพ และ การส่งผ่านภาษาไทยออกทางเครื่องพิมพ์ ล้วนกระทำผ่านโครงสร้างพื้นฐานของตัวระบบปฏิบัติการ ซึ่งถูกวางเอาไว้เพื่อรองรับความหลากหลายของภาษาท้องถิ่นอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น การกำหนดช่วงของรหัสเพื่อแทนอักขระภาษาไทย หรือการสร้างรูปแบบตัวอักษรภาษาไทยเพื่อบรรจุเข้าไว้ในระบบ จึงเป็นเรื่องที่ต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานที่มี ถ้าพื้นฐานไม่มีก็ต่อยอดไม่ได้

ปัญหาของภาษาไทยบนระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่มีแค่เฉพาะการนำเข้าภาษาไทยผ่านแป้นพิมพ์ การแสดงผลภาษาไทยออกทางจอภาพ หรือการพิมพ์ภาษาไทยออกทางเครื่องพิมพ์เท่านั้น ยังรวมไปถึงการนำเข้าคำพูดภาษาไทยผ่านไมโครโฟน และการเปล่งเสียงภาษาไทยออกทางลำโพงด้วย!!!

วิธีการออกเสียงของภาษาไทยไม่เหมือนภาษาอังกฤษ ดังนั้น จะใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์สำหรับสกัดคลื่่นเสียงภาษาอังกฤษมาใช้กับภาษาไทยโดยตรงก็คงไม่ได้ มันต้องมีการปรับนิดหน่อย ซึ่งผมก็ได้เห็นงานวิจัยของหน่วยงานอุตสาหกรรมชั้นนำของไทยเรา ที่กำลังก้าวหน้าไปได้ด้วยดีในเรื่องนี้ แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เมื่อใดก็ตามที่บริษัทชั้นนำของโลก ได้ก้าวผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ แล้วสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตัวระบบปฏิบัติการ เพื่อรองรับความหลากหลายของการนำเข้าคำพูดภาษาท้องถิ่นได้สำเร็จ เมื่อนั้น คนไทยเราก็จะเปลี่ยนจากผู้ตั้งต้นในการแก้ปัญหานี้ กลายเป็นเพียงผู้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ไปโดยปริยาย อีกครั้ง!

man-141052_640

ความรู้สึกของผมนะ ผมรู้สึกว่าคนไทยเราแก้ปัญหาภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์ได้ดี แต่เราไม่ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพื่อแก้ปัญหาอื่น แล้วพอบริษัทชั้นนำของโลกสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ซึ่งแก้ปัญหาอื่นรวมทั้งปัญหาภาษาท้องถิ่นที่หลากหลายได้ เราก็เลยต้องย้ายการแก้ปัญหาภาษาไทยบนระบบคอมพิวเตอร์ ไปอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานที่ว่าแทน

ตอนนี้พอมองภาพกันออกแล้วใช่มั้ยครับ ว่าการแก้ปัญหาภาษาไทยบนระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าจะไม่ให้เสียเวลาในการแก้ปัญหา เราต้องพิจารณาจากสิ่งใด?

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *