หลักสูตรคอมพิวเตอร์ในเมืองไทย (ปรับปรุงใหม่)

ผมเคยเขียนเรื่องหลักสูตรคอมพิวเตอร์ในเมืองไทยเอาไว้ จุดประสงค์เพื่อเรียบเรียงว่าตอนนี้มหาวิทยาลัยในเมืองไทย เปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ในระดับปริญญาและบัณฑิตศึกษากี่หลักสูตรบ้าง

ตอนนี้ผมเลยคิดว่าผมต้องมาปรับปรุงมันใหม่อีกครั้ง เพราะโลกมันเปลี่ยน มันมีวิทยาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา หลักสูตรทางคอมพิวเตอร์มันก็เปลี่ยนตาม แถมคราวที่แล้วผมก็ไม่ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนมากนัก ว่าแต่ล่ะหลักสูตรเขามีจุดประสงค์ในการเปิดการเรียนการสอนเพื่ออะไรบ้าง ในหัวข้อนี้เลยจะมาเล่าให้อ่านกันสั้น ๆ

ผมสรุปแล้ว (สรุปเอง) ว่าเราสามารถจัดหลักสูตรคอมพิวเตอร์ในเมืองไทยได้ 10 หลักสูตรใน 4 วุฒิการศึกษาครับ ตามรายการด้านล่างนี้

วุฒิวิทยาศาสตร์

  • วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) มุ่งเน้นการเรียนรู้ทฤษฎีการคำนวณสำหรับคอมพิวเตอร์ และ ทฤษฎีการประมวลผลสารสนเทศ
  • วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) มุ่งเน้นการเรียนรู้ทฤษฎีการพัฒนาซอฟต์แวร์ และกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างเป็นระบบ
  • เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) มุ่งเน้นการประยุกต์ทฤษฎีทางคอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์และใช้ได้จริง
  • ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (Management Information System) มุ่งเน้นการเรียนรู้ทฤษฎีการค้นหา วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อสกัดสารสนเทศและตกผลึกสารสนเทศ สำหรับนำเสนอ ตัดสินใจ และบริหารจัดการ
  • เทคโนโลยีมัลติมีเดียและแอนิเมชั่น (Multimedia Technology and Animation) มุ่งเน้นการเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลสัญญาณภาพดิจิทัล ผสานสื่อผสม สร้างเกมคอมพิวเตอร์ และประสานงานด้านนิเทศศาสตร์
  • เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อุตสาหกรรม (Industrial Computer Technology) มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อตอบสนองต่องานช่างอุตสาหกรรม และพัฒนาระบบในงานอุตสาหกรรม

วุฒิวิศวกรรมศาสตร์

  • วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) มุ่งเน้นการเรียนรู้กระบวนวิธีเพื่อสั่งการคอมพิวเตอร์ในระดับล่างเชิงลึก และการสั่งการฮาร์ดแวร์ที่ต่อเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ การสั่งการระบบฝังตัวและระบบไมโครคอนโทรลเลอร์
  • วิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Engineering) มุ่งเน้นการเรียนรู้ทฤษฎีการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ การเรียนรู้โดยเครื่องจักร และการสกัดความรู้จากข้อมูลขนาดใหญ่

วุฒิบริหารธุรกิจ

  • คอมพิวเตอร์ธุรกิจ (Business Computer) มุ่งเน้นเรียนรู้การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในด้านฐานข้อมูล สินค้าคงคลัง ค้าปลีก ค้าส่ง การเงิน บัญชี ทรัพยากรบุคคล เพื่อตอบสนองทางธุรกิจ

วุฒิครุศาสตร์อุตสาหกรรม

  • เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Computer Technology) มุ่งเน้นเรียนรู้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ และเรียนรู้ขั้นตอนวิธีการถ่ายทอดความรู้ เพื่อเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทางคอมพิวเตอร์ให้ผู้อื่นอย่างเป็นระบบ

คอมพิวเตอร์

และทั้งหมดนี้ก็คือหลักสูตรคอมพิวเตอร์ในเมืองไทย ที่เปิดสอนในระดับปริญญาและบัณฑิตศึกษาตามมหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่าง ๆ ที่ผมสรุปได้ครับ โดยวุฒิใหม่ล่าสุดที่มีการเปิดการเรียนการสอน และผมได้เพิ่มเข้าไปในหัวข้อนี้ คือ วุฒิวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่นั่นเอง

ถ้าใครอยากรู้ว่าวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ มันมีความสำคัญยังไงต่ออนาคต อยากให้ไปลองอ่านหัวข้อ Data Science คืออะไร และ Data Scientist คืออะไร ที่ผมเคยเขียนไว้ครับ เพื่อจะได้เข้าใจว่าปฐมบทแห่งวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ มันมีต้นกำเนิดมาจากอะไร

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *