การสำรวจอวกาศแบบผสมผสาน

ผมกำลังคิดเรื่องการสำรวจอวกาศแบบผสมผสาน จริง ๆ มันเป็นเรื่องไกลตัว ไกลจากชีวิตประจำวันปรกติ แต่มันก็น่าสนุกดีที่จะคิด

ทุกวันนี้มีแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ส่งยานอวกาศสำรวจระหว่างดวงดาว ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจอื่นเน้นไปกับการสำรวจโลกของเราซะมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาการสำรวจอวกาศโดยการใช้ยานอวกาศ มักมีข้อติดขัดในด้านความเร็วและการสื่อสาร

มันคงเป็นเรื่องยากที่จะให้ยานอวกาศเดินทางได้เร็วมาก ๆ ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นเรื่องยากอีกเช่นกันที่จะให้ภาคพื้นโลกสามารถติดต่อกับยานอวกาศได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น

ทั้งหมดทั้งมวลมันเป็นปัญหาบนพื้นฐานเดียวกัน คือ ไม่มีอะไรเดินทางได้เร็วกว่าแสง แปลว่าบนทฤษฎีนี้ ยานอวกาศก็ไม่มีทางไปได้เร็วกว่าแสง ในขณะที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้สื่อสารระหว่างภาคพื้นโลกกับยานอวกาศ ก็ไม่มีทางเดินทางได้เร็วกว่าแสงอีกเช่นกัน

มีความพยายามแก้ไขปัญหาสองเรื่องนี้

เรื่องแรกคือการสร้างยานอวกาศให้สามารถดึงกาลอวกาศเบื้องหน้า แล้วผลักกาลอวกาศไปเบื้องหลัง เพื่อให้มันไปได้เร็วกว่าความเร็วแสง และไม่ขัดแย้งกับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของไอน์สไตน์

ในขณะที่เรื่องสองคือการใช้ความพัวพันเชิงควอนตัม ที่ซึ่งอนุภาคสองอนุภาคจะมีความพัวพันต่อกัน และถึงแม้ปุบปับอนุภาคสองอนุภาคจะถูกย้ายไปอยู่คนล่ะซีกเอกภพ มันก็คงยังคงมีความพัวพันต่อกันอยู่ ซึ่งด้วยคุณสมบัตินี้ จะทำให้การสื่อสารแบบทันทีทันใดระหว่างยานอวกาศและภาคพื้นโลกเป็นไปได้

ผมคิดว่าภารกิจในการสำรวจอวกาศ จะพึ่งพาจักรกลเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งถ้าต้องไปไกล ๆ ยิ่งแล้วใหญ่ ดังนั้น หากว่าในอนาคตสามารถแก้ปัญหาเรื่องความเร็วของยานอวกาศและความเร็วในการสื่อสารได้แบบที่ยกกรณีตัวอย่างข้างบน ผมก็คิดว่ามนุษย์ควรต้องโดยสารยานอวกาศที่ว่าไปด้วย โดยรูปแบบที่ผมคิดก็คือ ….

การสร้างยานอวกาศขนาดเท่ารถบัส โดยมีเครื่องยนต์ที่สามารถดึงกาลอวกาศเบื้องหน้า แล้วผลักกาลอวกาศไปด้านหลัง แบบเครื่องยนต์วาร์ป ภายในยานมีระบบสื่อสารแบบพัวพันเชิงควอนตัมเต็มรูปแบบ เพื่อจะสื่อสารระหว่างยานอวกาศและภาคพื้นโลกได้แบบทันทีทันใด

ทีนี้เรื่องของนักบินอวกาศ คืองี้ ปรกติเรามักจะสร้างยานพาหนะให้มันใหญ่กว่าตัวมนุษย์ถูกมั้ยครับ และมนุษย์อย่างพวกเราก็ตัวไม่ใช่เล็ก ๆ เหมือนกัน ซึ่งถ้ายานอวกาศมันขนาดเท่ารถบัส แล้วมีมนุษย์เข้าไปอยู่ 3 -4 คน เราก็จะรู้สึกว่ายานอวกาศมันก็ไม่ใหญ่อะไรมากมายถูกมั้ยครับ?

งั้นทำไมเราไม่คิดย้อนกลับว่า ถ้าเปลี่ยนเป็นให้นักบินอวกาศตัวเล็กเท่าพัดลมตั้งโต๊ะล่ะจะเป็นยังไง พื้นที่ใช้สอยของยานอวกาศที่มีขนาดเท่ารถบัส ก็จะกลายเป็นใหญ่โตเลยเมื่อเทียบกับนักบินตัวเล็ก ๆ จริงมั้ยครับ? และมันก็เท่ากับว่าต้นทุนในการสร้างยานอวกาศก็จะถูกลงมาก ๆ เลยล่ะ!!!

ดังนั้น ผมคิดว่าเรื่องนักบินที่ไปกับยานอวกาศ ควรเป็นงี้ คือ สร้างเป็นหุ่นอวตารขึ้นมา ให้ตัวเล็กเท่าพัดลมตั้งโต๊ะ แล้วให้มันสื่อสารกับภาคพื้นดินด้วยความพัวพันเชิงควอนตัม และที่พื้นโลกก็มีระบบสวมอวตาร เพื่อให้มนุษย์จริง ๆ สวมใส่ เพื่อจะบังคับหุ่นอวตารบนยานอวกาศได้ ซึ่งหากทำแบบนี้ได้ นักบินอวกาศตัวจริงก็ไม่มีความเสี่ยง แถมยังสามารถผลัดเวรยาม เพื่อมาสวมอวตารแทนกัน เพื่อบังคับหุ่นอวตารได้อีกด้วย!!!

ในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยง บนยานอวกาศก็ต้องมีหุ่นยนต์เอไอที่มีรูปร่างเหมือนคน มีความฉลาดใกล้คน และตัวเล็กเท่าพัดลมตั้งโต๊ะเหมือนกัน เพื่อทำโน่นทำนี่แทนมนุษย์ ในกรณีที่เกิดการขาดการติดต่อระหว่างยานกับภาคอื้น

ส่วนตัวผมคิดว่า ระหว่างเครื่องยนต์วาร์ปกับการสื่อสารเชิงควอนตัม ผมให้ภาษีกับการสื่อสารเชิงควอนตัมมากกว่า เพราะหากทำได้จริง การสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา ด้วยวิธีที่ผมจินตนาการ จะทำให้การลงจอดบนพื้นผิวดาวเพื่อสำรวจอย่างใกล้ชิด มีความเสี่ยงต่ำและเกิดผลประโยชน์สูงอย่างแน่นอนครับ

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *