พักหลังมีคนคุยเกี่ยวกับกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ผมเองก็ห่างไปนาน ไม่ได้ติดตามมาพักใหญ่ ๆ ว่าบ้านเมืองนี้ มีการออกกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศอะไรออกมาบ้าง
สำหรับหัวข้อนี้จะแบ่งกฎหมายออกเป็นสองกลุ่มนะ คือกลุ่มแรกเป็นกฎหมายที่ประกาศบังคับใช้แล้ว กับกลุ่มหลังเป็นกฎหมายที่ยังเตาะแตะรอฟังความคิดเห็น รอประกาศบังคับใช้อยู่
กลุ่มแรก กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการประกาศใช้แล้ว
1.1 พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ [1]
บัญญัติขึ้นเพื่อทำให้การค้าขายสินค้าและบริการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และ อินเทอร์เน็ต เป็นไปอย่างปลอดภัย ซึ่งประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนเป็นสำคัญ
1.2 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ [2]
บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันความปลอดภัยให้กับระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลภายในระบบคอมพิวเตอร์ไม่ให้ถูกละเมิด โดยประโยชน์จะตกอยู่กับบริษัท ห้างร้าน หน่วยงานรัฐ ที่อาจถูกละเมิดระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งปกป้องประชาชนไม่ให้ถูกละเมิดจากข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว้ภายในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย
1.3 พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. ๒๕๖๐ [3]
บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมสถาบันการเงิน บริษัท ห้างร้าน ที่ทำธุรกิจบัตรเติมเงิน ให้ประกอบการอย่างมีความมั่นคงและต่อเนื่อง โดยประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนเป็นหลัก
1.4 พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ [4]
บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมธุรกิจเงินดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย โดยประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนเป็นหลัก
1.5 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒ [5]
บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของภาครัฐ จากการโจมตีโดยผู้บุกรุกซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายหรือนักรบไซเบอร์ นอกจากนี้ยังให้อำนาจในการตรวจค้น ตรวจสอบ ยึดสิ่งต้องสงสัยได้อีกด้วย โดยผู้ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้คือรัฐบาล
กลุ่มสอง กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยังรับฟังความคิดเห็น
2.1 ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … [6]
บัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ซึ่งถูกจัดเก็บภายในระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทห้างร้าน ไม่ให้ถูกนำไปเผยแพร่หรือแสวงหาผลประโยชน์ อันนำไปสู่การเสียหายหรือเสียประโยชน์กับเจ้าของข้อมูล ดังนั้น ประชาชนคือผู้ได้รับผลประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้
***
รวม ๆ แล้ว ณ ตอนนี้ (3 มีนาคม 2562) มีกฎหมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่ประกาศใช้แล้วจำนวน 5 ฉบับ เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติจำนวน 4 ฉบับ และเป็นกฎหมายระดับพระราชกำหนดจำนวน 1 ฉบับ
ในขณะที่ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยังรอประกาศใช้อีกจำนวน 1 ฉบับ โดยเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
กฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด มักเปิดช่องให้มีกฎหมายลูกขยายความได้ ไม่ว่าจะเป็น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง คำสั่ง ประกาศ หรือ ระเบียบ ซึ่งไม่ได้เล่าในหัวข้อนี้ อยากรู้ต้องไปตามต่อเอง
ผมจะหมั่นเข้ามาปรับปรุงรายการกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศในหัวข้อนี้อยู่เรื่อย ๆ คิดว่าอีกหลาย ๆ ปีต่อจากนี้ คงจะมีกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศประกาศใช้เพิ่มอีกหลายฉบับเลยล่ะ