สมาร์ทจิวเวลรี่

มันมีกรณีศึกษาทางธุรกิจนึงที่ตัวเองสนใจ เลยค้นคว้าไปเรื่อย ๆ แล้วก็ได้ข้อมูลปะติดปะต่อมาระดับนึง

เป็นเรื่องของบริษัท Ringly ที่สหรัฐอเมริกา ประกอบกิจการผลิตและขายสมาร์ทจิวเวลรี่

ผู้ก่อตั้งมี 2 คน เป็นผู้หญิงกับผู้ชาย

ผู้หญิงจบการออกแบบ UX/UI จากมหาวิทยาลัยคานากี้เมลล่อน ส่วนผู้ชายจบวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยเอ็มไอที

สินค้าที่ผลิตและขาย เป็นแหวนและกำไลข้อมือ ประดับหินเทอคว้อยซึ่งเป็นหินที่ฝรั่งเค้าชอบกัน ภายในหัวแหวนและแผงกำไล บรรจุไมโครคอนโทรลเลอร์และวงจรที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้สื่อสาร Bluetooth กับสมาร์ทโฟน

คุณสมบัติของแหวนและกำไลข้อมือ สามารถติดตามกิจกรรมทางสุขภาพของผู้สวมใส่ได้

สินค้าของ Ringly มีสิทธิบัตรการประดิษฐ์คุ้มครองจำนวน 6 ฉบับ ชื่อผู้ประดิษฐ์ของสิทธิบัตรทั้ง 6 ฉบับก็คือผู้ก่อตั้งบริษัท Ringly ทั้ง 2 คนกับวิศวกรไฟฟ้าอีก 1 คนที่ทำงานอยู่ในบริษัทผลิตไมโครชิปที่ตั้งอยู่ในยุโรป

ปะติดปะต่อได้ว่า คงไปจ้างบริษัทในยุโรปเพื่อทำ ODM กัน และการผลิตที่ยุโรปคงถูกกว่าที่สหรัฐ

บริษัท Ringly ได้รับเงินทุนเพื่ออุดหนุนกิจการจาก VC หลายครั้งตลอด 7 ปี มูลค่ารวม 200 ล้านบาท

แต่หลังจาก 7 ปี บริษัท Ringly ก็ยุติกิจการ ผู้ก่อตั้งบริษัททั้ง 2 คนแยกย้ายกันไปเป็นพนักงานที่อื่น ส่วนลูกค้าก็มีบ่น ๆ กันนิดหน่อยว่าจะหาที่ไหน MA สินค้าของ Ringly ต่อได้บ้าง?

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้บริษัทซึ่งผู้ก่อตั้งเป็นคนฉลาดระดับต้น ๆ ของโลก อยู่ในสังคมเสรี สภาพแวดล้อมการลงทุนที่เป็นมิตร ได้ทุนทำกิจการอย่างต่อเนื่องถึง 200 ล้านบาท และมีความสัมพันธ์อันดีกับบริษัทไมโครชิประดับโลกในภาคพื้นยุโรป แต่กลับเดินทางไปได้เพียง 7 ปีเท่านั้น?

เป็นสิ่งที่ส่วนตัวเก็บมาคิด!!!

ผู้ก่อตั้งไม่ได้ให้รายละเอียดของการยุติกิจการ ทำให้ต้องประเมินด้วยตัวเอง

จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าสินค้าทับที่และก้ำกึ่ง ไม่เข้าพวกกับจิวเวลรี่ชั้นสูงที่เป็นทอง 18K ประดับเพชรแท้ แต่คล้ายคลึงกับงานเงินประดับหินสี และเนื่องจากชูจุดเด่นที่สามารถติดตามกิจกรรมของผู้สวมใส่ได้ ทำให้มันไม่ได้ถูกเปรียบเทียบกับจิวเวลรี่ แต่ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นอุปกรณ์สวมใส่ที่ฉลาดแทน

ซึ่งในตลาดมีอุปกรณ์สวมใส่ที่ฉลาดอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Apple, Garmin, Fitbit, MI และ Huawei ซึ่งอุปกรณ์เหล่านั้นพัฒนามาจาก “นาฬิกา” อีกทอดหนึ่ง

จิวเวลรี่ที่พัฒนาไปเป็นอุปกรณ์สวมใส่ที่ฉลาด เมื่อต้องปะทะกับนาฬิกาที่พัฒนาไปเป็นอุปกรณ์สวมใส่ที่ฉลาด จึงถือเป็นคนล่ะน้ำหนักกัน แต่ต้องมาสู้กันในน้ำหนักเดียวกัน

น้ำหนักรุ่นแบนตัมเวท ต้องไปต่อยกับน้ำหนักรุ่นเฟเทอร์เวท เพื่อชิงตำแหน่งในรุ่นเฟเทอร์เวท ต้องแบกน้ำหนักถึง 2 รุ่น

ทำไมเป็นอย่างนั้น?

ก็เพราะโดยปรกติสำหรับจิวเวลรี่ สินค้าที่แพ้ทางมีอยู่ 2 ชนิด คือ “นาฬิกา” กับ “กระเป๋า” ถือว่าน้ำหนักอยู่ห่างกัน 1 รุ่นอยู่ก่อนแล้ว

ดังนั้น เมื่อต่างฝ่ายต่างพัฒนาไปเป็นอุปกรณ์สวมใส่เพื่อติดตามกิจกรรมของผู้สวมใส่ ก็ยิ่งทำให้น้ำหนักห่างกันขึ้นไปอีก 1 รุ่น เพราะความเป็นนาฬิกา มันมี UX/UI ที่เหนือกว่าจิวเวลรี่!!!

เมื่อประเมินมาถึงตรงนี้ก็ได้คำตอบขั้นต้นว่า คู่ต่อสู้ของ Ringly จึงไม่ใช่ Cartier, Tiffany & Co, Bvlgari หรือ Van Cleef&Arpels แต่เป็น Apple, Garmin, Fitbit, MI และ Huawei ซึ่งน้ำหนักห่างกันถึง 2 รุ่น!!!

ส่วนตัวคิดว่าสมาร์ทจิวเวลรี่ยังมีทางของมันอยู่ แต่เมื่ออยู่ในรุ่นแบนทัมเวท ก็ไม่ควรข้ามไปต่อยในรุ่นเฟเทอร์เวท

ซึ่งผู้ก่อตั้ง Ringly เองก็คิดแบบเดียวกันในเรื่องที่ว่าจิวเวลรี่ฉลาดมีทางของมัน เพียงแต่เขาเริ่มเรียกมันว่า “อุปกรณ์สวมใส่” แทน เห็นได้จาก Blog สุดท้ายในเว็บ Ringly ที่บอกเอาไว้ว่า

We’re still believers in wearable tech and its ability to make us healthier and happier. We look forward to seeing the category grow and evolve over the next few years and are proud we were able to be an early part of the story.

www.ringly.com

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *