ถ้าใครอ่านบล็อกนี้บ่อย ๆ จะพบว่า ผมมักจะเอาเรื่องคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ไปผูกโยงเข้ากับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อยู่เสมอ แต่กลับผูกโยงเข้ากับเรื่องทางวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยมากนัก
ส่วนนึงก็คงเป็นเพราะว่า คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์นั้น โดยธรรมชาติของมันแล้วเหมาะสมสำหรับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นอย่างยิ่ง
แต่แรกคอมพิวเตอร์สร้างขึ้นเพื่อคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สร้างขึ้นเพื่อการคำนวณวนซ้ำ แต่ภายหลังตั้งแต่มีหน่วยความจำสำรองอย่างฮาร์ดดิสก์ขึ้นมา อีกทั้งมีการคิดค้นทฤษฎีทางด้านฐานข้อมูลขึ้นมาอีก มันเลยยิ่งทำให้คอมพิวเตอร์เหมาะสมที่จะใช้เพื่อเก็บบันทึกเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เข้าไปใหญ่
แต่ก่อนจะเล่าเรื่องการผูกโยงคอมพิวเตอร์เข้ากับเงินตราเสริม ผมขอโม้เรื่องระบบเงินตราในยุคสมัยใหม่ก่อน คงไม่ว่ากัน
ในช่วงต้นของระบบเงินตราสมัยใหม่ เราจะใช้โลหะทองคำหรือโลหะเงินเป็นสิ่งสำรองเงินตรา ทุกคนได้ถูกปลูกฝังความเชื่อว่า หากแม้นใครก็ตามเอาเงินตรามาแลกโลหะทองคำกับรัฐบาล ก็ย่อมสามารถทำได้ พอเป็นแบบนี้แล้วประชาชนก็เชื่อใจ ไม่คิดจะเอาเงินตราไปแลกเป็นโลหะทองคำออกมา จึงนำเงินตราดังกล่าวแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการตามความสบายใจ
รัฐบาลเมื่อเห็นประชาชนไม่เอาเงินตรามาแลกโลหะทองคำ อีกทั้งก็ไม่เคยมีประชาชนหน้าไหนมาขอดูด้วย ว่าจริง ๆ แล้วในคลังของรัฐบาลมีโลหะทองคำอยู่มากน้อย สมน้ำสมเนื้อกับเงินตราที่ออกให้กับประชาชนใช้หรือเปล่า ก็เลยได้ใจออกเงินตราออกมาใหญ่ จนเข้าสู่สภาวะที่ถ้าประชาชนทุกคนเอาเงินตรามาแลกกับโลหะทองคำ เห็นทีรัฐบาลคงถึงกับล้มละลาย
ดังนั้นรัฐบาลจึงเปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยกำหนดว่าไม่ให้ประชาชนเอาเงินตรามาแลกเป็นโลหะทองคำกับรัฐบาลอีกต่อไป แต่โปรดเชื่อใจเถิดว่าเงินตราที่ประชาชนถือครองอยู่นั้น มีค่าเต็มราคาของมันจริง ๆ รัฐบาลขอรับรอง
พอมาถึงตรงนี้ เงินตราก็ไม่สามารถแลกเป็นโลหะทองคำกับรัฐบาลได้แล้ว แต่ยังไงซะ มันก็ยังมีค่าของมันอยู่ เพราะเงินตราเหล่านั้น ยังมีสิ่งหนุนหลังอยู่ นั่นก็คือ โลหะทองคำในคลัง, เงินตราต่างประเทศในคลัง และความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ที่จะสามารถเก็บภาษีจากประชาชนไปเรื่อย ๆ ได้
แต่ใครจะคิดว่าอยู่ดี ๆ บริษัทเอกชนเอง ก็คิดจะออกเงินตรากับเขาบ้าง เพียงแต่เงินตราที่เขาออกมานั้น มันเป็นเงินตราเสริม
เงินตราเสริมที่บริษัทเอกชนออกมานั้น ในช่วงแรกบริษัทเอกชนเองก็คงไม่ได้คิดว่ามันจะมีราคาค่างวดอะไร ซึ่งไอ้เจ้าสิ่งเหล่านั้นก็ได้แก่ แต้มสะสมการใช้บัตรเครดิต, แต้มสะสมการโดยสารเครื่องบิน, True Money ของ True Corporation (เกี่ยวข้องกับ True Money), Mac Coin ของเว๊ป Magcartoon.com เป็นต้น
สิ่งหนุนหลังเงินตราเสริมเหล่านั้นก็คือเงินตราที่ออกโดยรัฐบาลที่บริษัทดังกล่าวมีอยู่ บวกกับความน่าเชื่อถือของบริษัท ในการที่จะสามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีความหลากหลาย และมีคุณภาพที่ดีต่อเนื่องยาวนานแก่ลูกค้าได้ (เกี่ยวข้องกับ ศึกสามเส้า เคล้าน้ำตา)
ประเด็นที่ผมมองก็คือ
- เงินตราเสริมเหล่านี้ล้วนอยู่ในรูปแบบของเงินอิเลกทรอนิกส์ มันจะแลกเปลี่ยนไม่ได้เลยหากไม่มีระบบซอฟต์แวร์ทางการเงินที่แข็งแกร่งและเฉพาะทาง เพื่อใช้สำหรับควบคุมให้มันมีความน่าเชื่อถือ, ถูกต้อง และปลอดภัย
- บริษัทที่ออกเงินตราเสริมเหล่านั้น ยิ่งมีสินค้าและบริการที่หลากหลาย อีกทั้งมีกลุ่มลูกค้าที่จงรักภักดีต่อแบรนด์อยู่ในมือมากเท่าไหร่ เงินตราเสริมเหล่านั้นก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้นไปเท่านั้น และ
- โอกาสที่เงินตราเสริม จะถูกออกใช้มากกว่าเงินตราจริงที่บริษัทมีอยู่ ก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ ตามอำนาจของบริษัทนั้น ๆ คล้ายกับว่าบริษัทดังกล่าวเป็นธนาคารดี ๆ นี่เอง
โดยสรุปแล้วผมคิดว่า พลังของระบบธุรกิจบวกกับพลังแห่งระบบซอฟต์แวร์ จะนำพาให้เราได้พบรูปแบบเงินตราเสริมแบบใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยพบมาก่อนครับ
ป.ล. พลังในการผลิตสินค้าและบริการ คือปฐมบทแห่งการหนุนหลังเงินตราทั้งปวงครับ
[tags]คอมพิวเตอร์,ซอฟต์แวร์,เงินตรา,เงินตราเสริม,การจัดการ,ทองคำ[/tags]
ผมอยากให้เพิ่มฐานอีกอัน คือ ฐานการผลิต เพราะเงินหรือทองคำไม่มีค่าที่แท้จริง มันแปรเปลี่ยนไปตามอำนาจการผลิตสินค้าหรือบริการของประเทศนั้นๆ
เงินตราและทองคำ คือฐานการผลิตในประเทศ
เงินตราต่างประเทศ คือฐานการผลิตต่างประเทศที่คนในประเทศครอบครองอยู่
เงินตราเสริม จะมีค่าก็ต่อเมื่อมีสินค้าหรือบริการที่เป็นที่ต้องการ มิเช่นนั้นเงินตราเสริมจะไม่มีค่า และจะฉุดให้สินค้าหรือบริการของบริษัทให้ไม่เป็นที่ต้องการไปด้วย(จริงๆมันสะท้อนซึ่งกันและกัน) ดังนั้นการออกเงินตราเสริมจึงต้องพิจารณาให้ดี
ขออ้างคำพูดคนดังซะหน่อย อิอิ
“เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง”
ม.จ. สิทธิพร กฤดากร
สงสัยต้องใช้eWalletซ่ะด้วยซิ เอิ๊กๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
เห็นด้วยครับคุณ 7 แต่ผมขี้เกียจวาดรูปใหม่แล้วอ่ะ คงไม่ว่ากันนะ ^o^ ไม่ได้ดื้อนะ แบบว่าขี้เกียจอ่ะ ดื้อกับขี้เกียจมันไม่เหมือนกัน
อ้า คุณ memtest รู้จัก eWallet ด้วย