ปัจจุบันไม่ว่าเราจะเข้าไปทำงานที่องค์กรไหน ไม่ว่าเล็กหรือว่าใหญ่ ก็ล้วนจะต้องใช้คอมพิวเตอร์กันแล้วนะครับ เหมือนกับว่าคอมพิวเตอร์มันได้กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำงานไปแล้ว
ทีนี้คอมพิวเตอร์มันคงจะทำงานไม่ได้หรอก ถ้ามันไม่มีซอฟต์แวร์บรรจุอยู่ข้างใน จริงมั้ยครับ?
ในคราวที่แล้วผมได้เขียนไว้ว่า องค์กรใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่ มักจะจัดซื้อจัดจ้างซอฟต์แวร์ตัวใหญ่ ๆ มาไว้ในองค์กร แต่มักไม่เคยจัดสรรงบประมาณในการเชื่อมโยงระบบเหล่านั้นให้ทำงานได้อย่างไหลลื่น (อ่านจากการเชื่อมโยงข้อมูลกันในระบบ Enterprise)
มาวันนี้ผมจะพลิกลิ้น พูดอีกอย่างนึง คงไม่ว่ากัน 🙂 จริง ๆ ก็ไม่เรียกว่าพลิกลิ้นหรอกครับ เพราะว่าในขณะที่บางองค์กรชอบที่จะซื้อซอฟต์แวร์ตัวใหญ่ ๆ แยกชิ้นกันมา แต่บางองค์กรก็ชอบซื้อซอฟต์แวร์ชิ้นใหญ่ ๆ ทุกชิ้นมาใช้งาน เพื่อประหยัดเวลา ไม่ต้องมานั่งเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างซอฟต์แวร์ให้เสียเวลาและงบประมาณ
โดยซอฟต์แวร์ชิ้นใหญ่ ๆ ชุดเดียวที่องค์กรทั้งหลายชอบซื้อมาใช้ จะมีเพียงสองประเภทเท่านั้น คือ ซอฟต์แวร์ ERP และซอฟต์แวร์ CRM
คำจำกัดความกว้าง ๆ ของซอฟต์แวร์สองประเภทนี้ก็คือ ERP หมายถึงระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการทรัพยากรทุก ๆ อย่างในองค์กร และตีค่าของทรัพยากรทุก ๆ อย่างออกมาให้ได้ ในขณะที่ CRM หมายถึงระบบซอฟต์แวร์เพื่อใช้สื่อสารกับลูกค้า, บริการลูกค้า และทำให้ลูกค้าเกิดความจงรักภักดีกับองค์กรของเราให้มากที่สุด
แทบทุกองค์กรล้วนมีซอฟต์แวร์สองประเภทนี้อยู่ครับ เพียงแต่จะซื้อมาชุดเล็กหรือว่าชุดใหญ่เท่านั้นเอง เปรียบได้ก็คงเหมือนกล่องยาสามัญประจำบ้านที่ต้องมีอยู่ในตู้ยาเลยล่ะ
แต่ต้องแจ้งให้ทราบนิดนึงครับว่า ต่อให้ซอฟต์แวร์ ERP และ CRM จะถูกออกแบบมาให้เลอเลิศยังไง แต่ประเด็นที่ทุกองค์กรต้องพบก็คือ …คุณสมบัติมันไม่ครบ… และนี่ก็คือบทบาทที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องเข้าไปเติมเต็มครับ
โดยปรกติซอฟต์แวร์ระดับนี้จะมีการเปิดให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเข้าไปเขียนโค้ดเพิ่มได้ ทั้งเขียนเข้าไปตรง ๆ หรือเปิดให้ Third Party ต่อเชื่อมเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น SAP ซึ่งถือได้ว่าเป็นซอฟต์แวร์ ERP ตัวนึง
SAP อนุญาติให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถปรับแต่งระบบเองได้ โดยใช้ภาษา ABAP, Smart Form, Smart Report, LSMW และอีกหลาย ๆ อย่างซึ่งเป็นสิ่งที่ SAP กำหนดเอาไว้ และใช้ภายในซอฟต์แวร์ SAP เอง ถ้าจะเปรียบก็คงเหมือน macro, report, table ใน Microsoft Access ในขณะที่ SAP เอง ก็อนุญาติให้ Third Party ภายนอกต่อเชื่อมเข้ามาได้โดยผ่าน .NET Framework Liabrary เป็นต้น
สิ่งที่ผมจะชี้ให้เห็นก็คือ เราจะเห็นว่าเมื่อเราอยู่ในองค์กรใหญ่ ๆ ซึ่งไม่ได้หาเลี้ยงองค์กรด้วยการทำธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ (อ่านจากรูปแบบธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ในเมืองไทย) เราจะมีทางเดินชีวิตในการพัฒนาซอฟต์แวร์เพียงแค่สองทางเท่านั้น
ทางแรกพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเชื่อมโยงซอฟต์แวร์ตัวใหญ่ ๆ ที่องค์กรจัดซื้อจัดจ้างมา และทางที่สองปรับแต่งซอฟต์แวร์ที่ซื้อมาโดยใช้เครื่องมือที่ซอฟต์แวร์เหล่านั้นเอื้ออำนวยให้ครับ
อยู่องค์กรใหญ่ ๆ โอกาสจะตั้งทีมเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ชุดใหญ่เพื่อใช้ในองค์กร โดยใช้เครื่องมือจำพวก Java Enterprise Edition, Java Standard Edition หรือ Microsoft Visual Studio .NET คงไม่มีทางหรอกครับ
เพราะผู้บริหารเขาไม่เชื่อมือพวกเราหรอก 🙂
เห็นด้วยกับพี่ครับ ที่ว่า “ผู้บริหารเขาไม่เชื่อมือพวกเราหรอก”
ทุกวันนี้็ก็เจอกับปัญหานี้อยู่ครับ เขาเชื่อว่าซื้อ ซอฟท์แวร์จากบริษัทต่างชาติ หรือ หรือ ซอฟท์แวร์เฮ้าท์ และจะได้มนต์วิเศษแค่นึก ทุกอย่างก็จะปรากฏตรงหน้า
แต่โปรแกรมเมอร์ในบริษัทตัวเองไม่เห็นคุณค่า จ้องแต่มองว่าไม่มีประสิทธิภาพ
ก็ใครมันจะทำได้เล่นไม่บอกความต้องการอะไรเลย บอกแต่ว่าโปรแกรมมันต้องตอบคำถามได้ทุกอย่าง แต่พอถามว่าและต้องการถามอะไรมันบ้างละ ตอบไม่ได้
งั้นเราต้องมาทำให้ผู้บริหารเชื่อมือเรากันคับ 🙂