อยู่ดี ๆ คอมพิวเตอร์มันคงจะทำงานเองไม่ได้หรอกเน้อะ ถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญไปสั่งให้มันทำงาน แล้วการจะสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานก็ยังไม่ทันสมัยพอที่จะใช้วิธีอื่นได้ นอกจากการบัญญัติภาษาคอมพิวเตอร์ขึ้นมา เพื่อทำความตกลงระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ว่าจะสื่อสารกันด้วยรูปแบบไหนถึงจะเข้าอกเข้าใจกันได้
คิดว่าคงมีคนหลายชาติเพียรพยายามที่จะสร้างภาษาคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาท้องถิ่นขึ้นมา แม้กระทั่งเมืองไทยก็มีนะ ผมจำได้ว่าอาจารย์อาจหาญ สัตยารักษ์ก็เคยสร้างภาษาคอมพิวเตอร์ที่มีไวยากรณ์เป็นภาษาไทยขึ้นมา ซึ่งก็ได้รับความนิยมอยู่ในวงจำกัดพักนึงแหล่ะ แล้วสุดท้ายก็สูญพันธ์ไป
มันก็เลยกลายเป็นสากลนัย ๆ ว่า ภาษาคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดต้องเป็นภาษาอังกฤษ!!!
ผู้คนที่ต้องมนต์เสน่ห์ของภาษาคอมพิวเตอร์ก็มักจะอยู่ในวงจำกัด ส่วนใหญ่ก็เป็น geek คอมพิวเตอร์ทั้งหลายที่ฝักใฝ่ในการสร้างซอฟต์แวร์ คนภายนอกไม่ได้มาเข้าใจความรู้สึกหรอก ว่าการใช้ภาษาคอมพิวเตอร์แบบโครงสร้าง หรือการใช้ภาษาคอมพิวเตอร์แบบเชิงวัตถุ เพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานนั้น มันเท่ห์ มันเจ๋ง หรือมันดียังไง คนนอกไม่รู้
ตอนนี้ภาษาคอมพิวเตอร์ก็มีมากเหลือเกิน แตกหน่อกลายพันธุ์ไปไม่รู้ตั้งกี่สาย บางภาษาก็เขียนง่ายจนเรารู้สึกอยากจะให้มันซับซ้อนขึ้นกว่านี้ ในขณะที่บางภาษาคอมพิวเตอร์ก็ยากซะเหลือเกิน ขนาดพยายามทำความเข้าใจตั้งหลายรอบก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจมันเท่าไหร่ ซ้ำร้ายในขณะที่เรายังไม่เข้าใจดี แต่คนอื่นกลับรู้แจ้งเห็นจริง ใช้ภาษาคอมพิวเตอร์เหล่านั้น สร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ออกมาได้เจ๋งเป้งกว่าเราเป็นไหน ๆ (คนอื่นที่ว่าคือพวกฝรั่ง)
ตอนเรียนอยู่ผมเคยคิดสร้างภาษาคอมพิวเตอร์นะ แต่ก็ได้เรียนรู้สัจธรรมว่าถ้าภาษาคอมพิวเตอร์ที่เราสร้างใหม่ขึ้นมา มันสู้ของที่คนอื่นสร้างไว้แล้วมันดีอยู่แล้วไม่ได้ หรือสร้างออกมาแล้วมันไม่ได้ niche เลยล่ะก็ ไปเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้ว แล้วเอามาสร้างซอฟต์แวร์ดีกว่า
เพราะคิดแบบนี้เปล่าเนี่ย คนไทยเลยไม่เคยสร้างภาษาคอมพิวเตอร์ออกไปอวดชาวโลกเลย??? สงสัยจะงั้น!!!
ดูเหมือนว่าหน่วยกิตที่ลงทะเบียนเรียนกันในสถาบันการศึกษา เพื่อจะทำให้เราเรียนรู้การสร้างภาษาคอมพิวเตอร์ท่าจะน้อยไปแฮะ เพราะถ้าเป็นในระดับปริญญาตรี ก็เห็นมีอยู่แค่วิชาเดียวคือ “Compiler” ส่วนในระดับปริญญาโทก็มีแค่ตัวเดียวเหมือนกันคือ “Advance Compiler”
ผมมองว่าความรู้ในการสร้างภาษาคอมพิวเตอร์เป็นความรู้สำคัญนะ เพราะมันจะทำให้อารยธรรมของเรามีพื้นฐานสำหรับการสร้างซอฟต์แวร์ชั้นสูงในวันข้างหน้าน่ะ
[tags]ภาษาคอมพิวเตอร์, คอมพิวเตอร์, ภาษา, ซอฟต์แวร์, การสร้างซอฟต์แวร์[/tags]
เคยเขียนอยู่ครั้งหนึ่ง เป็นกึ่ง compiler กึ่ง simulater ให้ complier Z80 Asembly แล้ว simulate ให้ run เป็น PC 8086 เพื่อทดสอบโปรแกรม ก่อนจะนำไปใช้งานจริงบน Single board
ไม่รู้ว่าปัจจุบันยังมี Z80 ใช้งานกันอยู่อีกหรือเปล่านะ?
Z80 ยังถูกใช้อยู่ในด้านการเรียนการสอนในระดับ ปวช. ปวส. ครับคุณ SoftGanz ^-^
แต่ก็จริงนะเนี่ย ภาษาคอมพิวเตอร์ที่ทั้งโลกใช้คือภาษาอังกฤษ