หลังจากทุ่มงบประมาณไปกว่า 20 ล้านบาท รวมกับการทุ่มเทแรงงานไปอีกเป็นเวลากว่าปีครึ่ง ในที่สุดองค์กรที่ผมทำงานอยู่ก็มีระบบ Datawarehouse กับเค้าซะที
ออกตัวไว้ก่อนเลยว่าโครงการนี้ผมไม่เกี่ยว เพราะผมไม่ได้เป็นระดับจัดการของโครงการนี้ แต่บังเอิญว่าการเป็นระดับจัดการในกรอบงานอื่นของผม มีความจำเป็นที่จะต้องไปรู้ไปเห็นรายละเอียดของโครงการนี้ด้วย จึงสามารถเอาเรื่องของระบบนี้มาโม้ให้อ่านเป็นคุ้งเป็นแควได้ในระดับหนึ่ง
สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นนั้นเป็นจริง เพราะถึงแม้เราจะเคยร่ำเรียนทฤษฎีทางด้าน Datawarehouse กันมาแล้วโดยการท่องจำศัพท์แสงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งมากมาย เพื่อเอามาตอบคำถามเวลามีใครมาถามเรา หรือเอาไว้ให้เราอ้างอิงหากมีสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว แต่มันก็ไม่เท่ากับเราได้เห็นผลลัพท์ของมันด้วยการปฏิบัติจริง
ก่อนที่จะโม้เรื่อง Datawarehouse นั้น เราคงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไมต้องมีระบบดังกล่าว แล้วทำไมผู้บริหารขององค์กรต่าง ๆ ถึงโหยหาอยากมีอยากได้มัน อีกทั้งยิ่งได้มันมาแล้วก็จะยิ่งเสพติดไม่อาจถอนตัวจากมันได้
อย่างที่เรารู้ว่าระบบคอมพิวเตอร์นั้นเริ่มมาแบบง่าย ๆ จากนั้นจึงค่อยนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเอาไปเน้นในการทุ่นแรงในทางธุรกิจซะเป็นส่วนใหญ่
แรกเริ่มเดิมทีนั้นกระบวนการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ และผลลัพท์อันเกิดจากระบบคอมพิวเตอร์อันได้แก่รายงานต่าง ๆ นั้นถือว่ารวม ๆ อยู่ด้วยกัน เป็นกรอบเดียวกัน
ผู้บริหารเองก็ยังไม่สนใจรายละเอียดอะไรมากนัก ขอเพียงแค่ให้ธุรกรรมได้ทำไปอย่างเป็นขั้นตอน รวดเร็ว และสมบูรณ์ก็เพียงพอ ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าคอมพิวเตอร์สามารถช่วยได้มาก
แต่ผ่านมาภายหลังก็เริ่มพบว่าระบบทางธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นการจะให้ระบบคอมพิวเตอร์เพียงระบบเดียวรองรับทุกกระบวนการ และให้ผลลัพท์ในทุก ๆ กิจกรรมของกระบวนการก็เลยเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก จึงมีความคิดว่าจะดีมั้ยน้อถ้าเราแยกระบบออกมาเป็นส่วน ๆ จะได้ง่ายต่อการบริหารจัดการ
ซึ่งการทำแบบนี้ก็ทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น อยากใช้ระบบไหนก็จัดสร้างจัดหาระบบนั้นมาใช้ หากต้องมีการเพิ่มขยายก็ค่อยต่อเชื่อมเข้ามา หรือหากระบบใดไม่เป็นที่นิยมแล้วก็ถอดออกไปได้โดยง่าย
โดยทางพื้นฐานแล้วกระบวนการทางคอมพิวเตอร์ไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นก็คือ 1) ใส่ข้อมูล, 2) ประมวลผล และ 3) แสดงผลลัพท์
ประเด็นมันจึงกลายเป็นว่าหากระบบคอมพิวเตอร์มีการแยกกระจายกัน ถึงแม้จะให้ความยืดหยุ่นในการต่อเติมหรือบำรุงรักษามากขึ้น แต่มันกลับกลายเป็นจุดอ่อนอันร้ายแรงอย่างหนึ่งนั่นก็คือ … ผลลัพท์ทั้งหมดเพื่อการตัดสินใจมันดันไม่ได้อยู่รวมกัน … มันอยู่แบบกระจายกัน …
ในปัจจุบันถ้าเราสังเกตกันดี ๆ เราจะพบว่าองค์กรต่าง ๆ มักจะมีการจัดจ้างคนเข้ามามากมาย เพื่อช่วยสรุปผลข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ คนเหล่านั้นอาจจะมีอาชีพที่่่แตกต่างกัน อาจจะอยู่ในตำแหน่งงานที่แตกต่างกัน แต่โดยพฤตินัยแล้วพวกเขาเหล่านั้นออกแรงกันเพื่อสรุปผลข้อมูล สำหรับส่งต่อให้ผู้บริหารในระดับที่สูงขึ้นไปนำไปใช้ตัดสินใจ … เพื่อจะกำหนดนโยบายหรือไม่กำหนดนโยบายอะไรบางอย่าง …
พวกเขาอาจจะใช้เครื่องมือง่าย ๆ ตั้งแต่กระดาษ ไปจนถึงเครื่องมือที่เป็นซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เช่น Microsoft Excel หรือจะเป็นเครื่องมือที่ผมกำลังโม้อยู่ นั่นก็คือผลลัพท์รายงานจากระบบคอมพิวเตอร์ที่แยกส่วนกันอยู่
ดังนั้น Datawarehouse จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการกระจายของผลลัพท์ อันเกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังรูปข้างล่างนี้
การจะเข้าใจ Datawarehouse ได้ก็ต้องทราบศัพท์บางตัวเช่น Business Intelligence (BI) และ SAP Exchange Infrastructure (XI) ซึ่งต้องขออภัยที่ผมจะไม่อธิบายศัพท์สองตัวนี้ เพราะกดตามลิงก์ไปก็จะพบว่าในโลกนี้มีคนอธิบายศัพท์สองตัวนี้ได้ดีกว่าผมเยอะ
ผลลัพท์ที่ได้จากระบบ Datawarehouse จะเหมาะสมมากที่ให้ผู้บริหารตัดสินใจ เพราะมันได้รวมเอาข้อมูลจากทุก ๆ ระบบมาไว้ด้วยกัน ทำให้มันสามารถแสดงผลได้ในรูปของข้อมูลหลายมิติ ซึ่งเปรียบได้กับลูกบาศก์ซึ่งทอดยาวและต่อเชื่อมกันเป็นหลาย ๆ ชั้น
ประเด็นที่ผมจะโม้และชี้ให้เห็นนั้นไม่ใช่ความเจ๋งเป้งของมันหรอกนะครับ ผมจะโม้ในเรื่องของความจริงว่าทำไมผู้บริหารต้องการมันมากกว่า …
ดูผิวเผินแล้วเราก็จะเห็นว่าถ้าจะตอบ ก็คงต้องตอบโจทย์นี้ว่า … เป็นเพราะผู้บริหารต้องการที่จะตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการใช้ระบบนี้มันจะช่วยได้มาก บรา ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ
เออครับ ใช่เลยครับ นั่นมันจริงส่วนนึงครับ แต่บางครั้งเราก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าทำไมผู้บริหารจึงต้องการมัน ซึ่งถ้าเราย้อนภาพกลับไปหน่อย … ย้อนกลับไปยังหัวข้อระบบคอมพิวเตอร์แบบแยกส่วน จากนั้นค่อย ๆ ฉายภาพไล่ลำดับไปทีล่ะขั้น แล้วเราก็จะเข้าใจว่าทำไม …
เพราะพอระบบคอมพิวเตอร์มันแยกส่วนกัน มันจึงทำให้ต้องมีคนไปกำกับดูแลใช้งานระบบที่แยกกันอยู่ ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้แล้วใครมันจะว่างเป็นคนมารวบรวมข้อมูลให้ผู้บริหารล่ะเนี่ย นั่นน่ะสิควรจะเป็นใครดี …
ในลำดับแรกก็คงต้องจัดจ้างคนเข้ามาเพื่อช่วยรวบรวมข้อมูล … อ่ะนะ … จะเห็นว่าคนทำงานกับระบบก็พวกนึงนะ แล้วคนรวบรวมข้อมูลจากระบบก็อีกพวกนึง ก็ทำกันไปผิดบ้างถูกบ้าง ผู้บริหารได้ข้อมูลไปก็ตัดสินใจกันไป บางทีได้ข้อมูลมาแล้วก็เซ็งบ่อน เพราะดูปร๊าดเดียวก็รู้แล้วว่ามั่ว ก็เลยจำใจต้องโยนข้อมูลขยะพวกนั้นทิ้งไป แล้วอาศัยประสบการณ์ตัดสินใจเอาเอง
พอเป็นงี้บ่อย ๆ ก็ชักจะส่ายหน้า ก็เลยคิดว่าเอางี้ดีกว่า ให้โปรแกรมเมอร์เป็นคนรวบรวมข้อมูลให้ดีกว่า เพราะข้อมูลถึงจะอยู่แยกระบบกัน แต่ยังไงซะในทางคอมพิวเตอร์แล้วโปรแกรมเมอร์ก็สามารถเชื่อมข้อมูลให้เข้าหากันได้อยู่ดี …
ว่าแล้วก็ส่งคำขอไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้เหล่าบรรดาโปรแกรมเมอร์ได้มีงานทำกัน (ซึ่งจริง ๆ ก็ยุ่งจะตายห่าอยู่แล้ว) โดยงานที่ขอให้ทำก็คือการรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อแสดงผลลัพท์รายงานตามเงื่อนไขที่ขอ บ้างก็ง่าย บ้างก็ซับซ้อน …
ทีนี้พอขอไปหนัก ๆ เยอะ ๆ โปรแกรมเมอร์ก็ชักจะแย่ ก็ชักจะทำให้ไม่ทัน ทีนี้ผู้บริหารจะทำไงดีล่ะ เพราะถึงแม้ว่าโปรแกรมเมอร์จะให้ความแม่นยำในเรื่องผลลัพท์ได้ดีกว่าคนที่ตัวเองจัดจ้างมา แต่ถ้าเป็นเรื่องของการส่งมอบงานแล้ว ก็ยังถือว่าโปรแกรมเมอร์ทำงานช้าไม่ทันใจอยู่ดี (ก็ยุ่งไง ยุ่งจะตายห่าอยู่แล้ว)
ดังนั้นโดยแท้ที่จริงแล้ว ระบบ Datawarehouse คือทางออกเพื่อตัดรำคาญและแก้ความเซ็งบ่อนที่ยืดเยื้อยาวนานของผู้บริหาร ที่มีลูกน้องแต่รวบรวมข้อมูลไม่ได้เรื่อง และมีศูนย์คอมพิวเตอร์แต่ทำงานให้ไม่ทันนั่นเอง!!!
ซึ่งผลกระทบจากการมี Datawarehouse มันยังสะท้อนให้เห็นภาพการจ้างแรงงานด้วยนะเอ้อ เพราะในเมื่อ Datawarehouse มันช่วยผู้บริหารได้แบบนี้ แล้วผู้บริหารจะจัดจ้างคนมารวบรวมข้อมูลให้ทำติ่งอะไรอีกล่ะ ก็ค่อย ๆ เลิกจ้างไปสิ เหลือเอาไว้เฉพาะคนที่มีหน้าที่ทำธุรกรรมก็พอ ลดต้นทุนไปเยอะเลย อีกทั้งก็ไม่จำเป็นต้องอนุมัติอัตราการจ้างงานของศูนย์คอมพิวเตอร์หรือฝ่ายคอมพิวเตอร์ด้วย เพราะผู้บริหารไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมเมอร์บางส่วนเพื่อเอามาทำรายงานพิศดารพันลึกอะไรอีกแล้ว ก็ลดต้นทุนไปได้อีกทอดนึง
ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกเป็นสิบตัวเลย … จริง ๆ
[tags]datawarehouse,คอมพิวเตอร์,ซอฟต์แวร์,การสร้างซอฟต์แวร์,ผู้บริหาร,ของหวาน[/tags]
อ่านแล้วฮาจริง เอิ้กๆๆ
แต่เห็นภาพเลยครับพี่ไท้
ขอบคุณที่นำเอาเรื่องราวมาแบ่งปันกันครับ
แอบอ่านมานาน พอสมควรแล้ว..
วันนี้ส่งเสียงให้หน่อย คนเขียนจะได้มีกำลังใจ
เมื่อรู้ว่ามีคนอ่าน
“เมื่อความรู้เกิดขึ้น ความไม่รู้ก็หมดไป”
จากท่าน พุทธทาสภิกขุ
ทุกท่าน – ขอบคุณครับ
เข้าใจง่ายดีครับพี่ไท้
แล้ว data mining ละครับ เป็นยังไง
แพง 20 ล้านแหนะ
แหะ ๆ ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ data mining เลยอ่ะครับท่านสุมาอี้ T-T ขอผ่านครับอันนี้
องค์กรมีจ่ายครับคุณ pete แต่โดยส่วนตัวแล้วผมไม่มีจ่ายครับ ฮา
เห็นภาพเลยครับท่าน เข้าใจง่ายดี
พี่ไท้มี E-Book ที่เกี่ยวกับ Data Warehouse ไหมครับ
วันนี้หนูไปดูโปรเจคพี่ปี 4 มา เค้าทำเรื่องนี้ด้วย
หนูก้อไม่ค่อยเข้าใจว่ามันต่างกับ database ธรรมดาตรงไหน
มาอ่านในบล็อคพี่ก้อเลยรู้ว่ามันต่างกันอย่างงี้นี่เอง
มันก็ดีเนอะ แต่ถ้าหนูจบไปหนูจะมีงานทำมั้ยเนี่ยพี่ T_T (หนูเรียน CS น่ะ ปี2)
เรียนก้อเก่งสุดๆๆไปเลยอ่ะ อิอิ