วันนี้เห็นข่าวน่าสลดข่าวนึงครับ เป็นข่าวนักธุรกิจฆ่าตัวตาย แบบว่าอ่านแล้วสลดหดหู่ทีเดียว ถ้าใครยังไม่ได้อ่าน หรืออยากจะมีส่วนร่วมในความสลดหดหู่ด้วย เชิญกดตามไปอ่านจากพาดหัวข่าวข้างล่างได้ครับ
เราอยู่ในระบบทุนนิยม, ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ และระบบอุตสาหกรรม การผลิตสินค้าและบริการก็เลยจำเป็นต้องใช้เงินตราเป็นทุนในการขับเคลื่อน
แล้วจุดตั้งตนของทุนจะมาจากไหน ถ้าไม่ไปปล้นจี้หรือได้รับมรดกมา ทุนก็จะได้จาก 2 แหล่งเท่านั้น นั่นคือการใช้แรงงานแลกให้ได้มา กับการกู้ยืมเพื่อให้ได้มา
บางคนอาจจะคิดว่า มูลเหตุตั้งต้นที่ทำให้ระบบทุนนิยมเติบโต คือการที่ทุกคนมุ่งหวังจะได้มาซึ่งกำไร ซึ่งสมการของกำไรมันก็ง่าย ๆ นั่นคือ เอารายได้มาหักลบกับค่าใช้จ่ายหรือต้นทุน ได้ผลลัพท์มาก็คือกำไร
กำไร / ขาดทุน = รายได้ – (ค่าใช้จ่าย + ต้นทุน)
ไม่ว่าเราจะมีกระแสเงินสดจากการเป็นลูกจ้าง, คนทำธุรกิจส่วนตัว, เจ้าของกิจการ หรือนักลงทุน ก็ล้วนมุ่งหวังให้รายได้มากกว่ารายจ่ายทั้งนั้น
แต่จริง ๆ มูลเหตุตั้งต้นที่ทำให้ระบบทุนนิยมเติบโตนั้นกลับไม่ได้มาจากกำไร แต่กลับมาจาก ดอกเบี้ย ต่างหาก!!! แถมเป็น ดอกเบี้ยทบต้น ซะด้วย!!!
การกู้ยืมเงินมาไม่ว่าจะใช้เพื่ออุปโภคบริโภค หรือเพื่อลงทุน ล้วนต้องชดใช้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยทั้งสิ้น ดังนั้นดอกเบี้ยจึงเป็นสารหนูตัวจริง ที่ช่วยกระตุ้นให้ทุนนิยมเติบโต
ทุกคนต้องแย่งเงินตราซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดจากคนอื่นมา เพื่อใช้ชำระเป็นดอกเบี้ยซึ่งคิดคำนวนจากเงินต้นที่กู้ยืมไป นั่นย่อมแสดงว่า เกมส์นี้ต้องมีใครซักคนนึงที่ล้มละลาย เพราะถูกผู้อื่นแย่งเงินจากตนเองไปตามกลไกทุนนิยม
โหดร้ายมั้ย? … โหดร้ายสิ โลกมันก็เป็นงี้แหล่ะ
เนื่องจากบล็อกนี้โม้แต่เรื่อง Software as a Service เพียงอย่างเดียว จึงขออนุญาติหยุดโม้เรื่องทางเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมไว้แค่นี้ แล้วก็กลับมาโม้เรื่องของนักพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างพวกเรากันต่อ 😛
พวกเรานักพัฒนาซอฟต์แวร์คงจะทราบกันดีว่า ค่าแรงของนักพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างพวกเรานั้น มันแพง!!! ค่าแรงของพวกเราแพงในระดับที่เกาะกลุ่มกับแพทย์, วิศวกร หรือสถาปนิก ได้เลยทีเดียว
เนื่องจากว่าโดยทั่วไปแล้ว สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดนักพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างพวกเรานั้น ไม่เคยให้พวกเราลงหน่วยกิตวิชาสำคัญวิชานึง (ซึ่งจริง ๆ แล้วสำคัญมาก ๆ) นั่นคือ วิชาการจัดการกระแสเงินสด
วิชานี้สำคัญยังไง อือม มันสำคัญสิ มันช่วยทำให้เรารู้ว่าเมื่อเราได้เงินมาแล้ว เราควรจะทำยังไงกับมันบ้างไง สิ่งที่ผมมักพบเสมอสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็คือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะอ่อนอยู่ 2 เรื่องอ่ะครับ ซึ่งก็คือ กฎหมาย และการจัดการกระแสเงินสด
พอได้ค่าแรงมาเยอะ ๆ ก็ควบคุมจิตไว้ไม่ได้ใช่มั้ยล่ะ วาดฝันไว้เยอะแยะเลยอ่ะดิ แบบว่าอยากจะซื้อโน่น, นี่, นั่น, นู่น ใหญ่เลยใช่ม้า? หรือไม่อาการหนักหน่อยก็อยากจะผ่อนรถ, ผ่อนบ้านไปโน่นเลย
อันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวครับ นานาจิตตัง จะหักหาญน้ำใจกันก็ไม่ได้ เพราะแต่ล่ะคนนั้นได้ใช้แรงงานของตนหาเงินมาแล้ว ดังนั้นจะใช้เงินยังไงก็เรื่องของแต่ล่ะคน
ผมพบบางอย่างซึ่งขัดแย้งกันอยู่นะ สำหรับการใช้ชีวิตของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ ไม่รู้อาชีพอื่นเป็นเหมือนกันหรือเปล่านั่นก็คือ
- กลัวว่าตัวเองจะอายุสั้น กลัวสังขารตัวเองจะไม่เที่ยง ก็เลยต้องรีบหาความสุขใส่ตัวให้มาก ๆ ใช้เงินที่ตนเองมีเพื่อปรนเปรอความสุขให้กับตัวเอง แต่ก็
- อยากจะมีอายุยืนนาน และก็กลัวว่าบั้นปลายชีวิตจะไม่สามารถเลี้ยงตัวเอง หรือพึ่งพาให้ใครมาเลี้ยงตัวเองได้ ดังนั้นก็เลยใช้จ่ายเงินไปกับการผ่อนกรมธรรม์สะสมทรัพย์เป็นรายปี ซึ่งบางคนกลัวหนัก ก็เลยผ่อนกรมธรรม์สะสมทรัพย์ตั้งหลายใบ
และก็ด้วยเพราะค่าแรงของนักพัฒนาซอฟต์แวร์มันแพงนี่แหล่ะ จึงทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์มีอำนาจที่จะใช้จ่ายเพื่อ 2 สิ่งที่ขัดแย้งกันในย่อหน้าข้างบนได้อย่างมากมายทีเดียว
อีกอย่างนึง ผมว่ามันเป็นลักษณะร่วมมาก ๆ เลยครับ นั่นก็คือไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือวิศวกรคอมพิวเตอร์ก็ตาม เมื่อเรียนจบปริญญาตรีและทำงานไปซัก 3 – 4 ปีแล้ว ส่วนใหญ่นะ จะหันเหไปเรียนปริญญาโททางด้านบริหาร, การเงิน หรือเศรษฐศาสตร์กัน
ซึ่งนั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า นักพัฒนาซอฟต์แวร์เหล่านั้น เริ่มสนใจ การจัดการกระแสเงินสด มากกว่า การพัฒนาซอฟต์แวร์ แล้วนั่นเอง 😛
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน + กำไร – ขาดทุน
กำไร หรือ ขาดทุน = รายได้ – ค่าใช้จ่าย และ
คุณค่าของชีวิต > สินทรัพย์ ครับ
และ
นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ควรถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทครับ
[tags]กระแสเงินสด,เงินตรา[/tags]
จริงๆ เรื่อง การจัดการกระแสเงินสด หรือว่า ความรู้ทางการเงินเป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้ด้วยซ้ำมั้ง ครับไม่ใช่แต่ นักพัฒนา Software เหมือนที่ผมเคยได้อ่านที่ ดร นิเวศ เคยเขียนบทความไว้อันนึง เรื่องสามสิ่งที่ควรเรียนรู้ในชีวิต
1. ความรู้ในสายวิชาชีพ อย่างเราก็การพัฒนา Software
2. ความรู้ในการจัดการ การเงิน มีน้อยก็ใช้น้อยอย่างพอเพียง มีเยอะ ก็ต้องรุ้จักเอามันไปทำงานครับ
3. ความรู้ด้านสุขภาพ ลงทุนอะไรไม่เท่ามีสุขภาพดีครับ