เมื่อวานเล่าค้างไว้เรื่องโมเดลใหม่ วันนี้เลยว่าจะมาต่อในส่วนที่เหลือ เพราะเมื่อวานโม้เอาไว้เรื่องอำนาจ วันนี้เลยจะมาต่อให้จบเรื่องของผลประโยชน์

อย่างที่ทราบกันดีว่าการสร้างเว๊ปไซต์ขึ้นมาซักหนึ่งเว๊ปนั้นมันมีต้นทุนของมัน เราอย่าเพิ่งไปพูดกันถึงว่าเราสร้างมันขึ้นมาด้วยจุดประสงค์อะไรนะ เรื่องนั้นเอาไว้ก่อน มาคุยกันเรื่องต้นทุนก่อน ซึ่งต้นทุนมันควรจะประกอบไปด้วยอะไรบ้างล่ะ?

  1. ค่าจดทะเบียนโดเมน
  2. ค่าเช่าพื้นที่โฮสติ้ง หรือบางทีก็เช่าเครื่อง Server เป็นเครื่องกันไปเลย
  3. ต้นทุนของการเสียโอกาส ในการที่จะต้องมานั่งเขียนโปรแกรม หรือการติดตั้งโปรแกรม เพื่อให้เว๊ปมันทำงานได้
  4. ต้นทุนของการเสียโอกาส ในการที่จะต้องมาดูแล เอาใจใส่ บรรจุเนื้อหาดี ๆ เข้าไป

ของพวกนี้ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสามารถตีค่าออกมาเป็นเงินตราได้ทั้งนั้น

งั้นเรากลับมาโม้กันต่อเรื่องจุดประสงค์ในการสร้างบ้าง ซึ่งหากว่าเราสร้างมันขึ้นมาเพื่อให้เราละเลงเนื้อหาได้ด้วยตนเอง เราสร้างระบบการบริการ SaaS ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ให้ใครเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้วล่ะก็ ผู้ก่อตั้งเว๊ปไซต์ย่อมมีสิทธิ์ 1000% ที่จะกอบโกยตักตวงผลประโยชน์จากเว๊ปไซต์ดังกล่าวได้ ตามสิทธิ์ที่ตนเองพึงมีพึงได้ เพราะตนเองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และเสียต้นทุนของการเสียโอกาสในการสร้างมันขึ้นมา ในขณะที่ผู้เข้าเยี่ยมชมหรือผู้ใช้บริการไม่ได้จ่ายอะไร ซึ่งอันนี้ก็ถือว่ายุติธรรมดี อันนี้โอเคนะ?

แต่ถ้าเว๊ปไซต์ของเราก่อตั้งด้วยตัวเราเองก็จริง แต่ที่มันเติบโตขึ้นมาได้เพราะมีใคร ๆ มาช่วยกันสร้างเนื้อหาล่ะ? เราจะแบ่งผลประโยชน์ยังไงดี มันเป็นเรื่องที่น่าคิดนะ เพราะถึงแม้ว่าเว๊ปไซต์ของเราจะไม่มีนโยบายที่จะหารายได้จากค่าสมาชิก หรือการติดโฆษณาก็ตาม แต่เราก็ควรใช้ระบบทุนนิยมเพื่อขับเคลื่อนให้สมาชิกในชุมชน รู้สึกว่าตัวเองได้ผลประโยชน์อะไรที่เป็นรูปธรรมบ้างเหมือนกัน

อันนี้ไม่ได้หน้าเงินนะ คุยกันพื้น ๆ ตามความเป็นจริงเลย เพราะมนุษย์เราจะเคลื่อนไหวได้ดีมาก หากมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง

เอาแนวคิดที่ยังไม่ประสบความสำเร็จของผมมาเป็นกรณีศึกษาดีกว่า คือผมเคยทำเว๊ปบอร์ดนะ แล้วก็อยากให้เว๊ปบอร์ดมันโตด้วย แต่ก็รู้สึกละอายใจเหมือนกัน ถ้าจะให้ใคร ๆ เข้ามาทำให้เว๊ปบอร์ดของผมเติบโต โดยที่พวกเขาไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลย ผมไม่อยากหลอกใช้ใคร รู้สึกมันไม่ดี ถ้าจะใช้ใครให้ทำงาน สู้กำหนดผลประโยชน์กันไปเลยดีกว่า

พอผมคิดได้ดังนั้นผมก็เอา phpBB มาแกะในส่วนของ Profile และส่วนของ Signature เพื่ออนุญาติให้สมาชิกสามารถติด Adsense ใน Signature ของตัวเองได้ แล้วมันจะได้แสดงผลออกมา เวลาที่สมาชิกคนดังกล่าวตั้งกระทู้หรือตอบกระทู้ ซึ่งมันเป็นเรื่องดี เพราะมันทำให้สมาชิกคนดังกล่าวได้รับผลตอบแทนด้วย หากมีใครคลิ๊กโฆษณาของเขา

ผมรู้สึกว่าแบบนี้มันยุติธรรมดี ต่างคนก็ต่างได้ เว๊ปบอร์ดผมก็โตแล้วก็ดัง สมาชิกก็ได้ผลตอบแทนจาก Adsense แต่เมื่อผมนำเรื่องนี้ไปประกาศในเว๊ปบอร์ดอื่น ก็ได้รับการแจ้งว่าสิ่งที่ผมทำมันผิดกฎของ Adsense ซึ่งกฎที่ว่าก็คือห้ามมีการแสดงผลโฆษณาเกิน 3 จุดต่อหนึ่งหน้า และห้ามมี Account Adsense เกิน 1 Account ในหนึ่งโดเมน และถ้ายังฝืนทำต่อไป อาจทำให้โดนแบน account กันยกแก๊ง ซึ่งแบบนี้บรรลัยกันหมด

ผมพับโครงการนี้ไปโดยไม่ค่อยเสียดายมากนัก เพราะผมเองก็รู้ตัวว่าผมสนใจสร้าง SaaS มากกว่าที่จะสร้างชุมชนออนไลน์ แนวคิดของการหาประโยชน์จาก SaaS กับชุมชนออนไลน์มันเป็นคนล่ะแบบกัน

ที่ผมคิดได้อีกแบบนึงเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ร่วมกันนั่นก็คือ เอารูปแบบของ Blogger, Bloggang, Digg และ Exteen มารวมกัน

  • Blogger อนุญาติให้สมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของบล็อก สามารถติด Adsense ในพื้นที่ของตัวเองได้
  • Bloggang มีระบบแสดงหัวข้อที่สมาชิกเขียนขึ้นล่าสุด โดยสามารถแยกเป็นหมวดหมู่หัวเรื่องได้
  • Digg ให้สมาชิกสามารถที่จะโหวตลงคะแนนในหัวข้อที่ถูกเขียนขึ้นมา
  • Exteen มีนโยบายชัดเจนที่จะติดโฆษณาที่หน้าแรกเท่านั้น เพราะถืออย่างเคร่งครัดว่าพื้นที่ภายในบล็อกของสมาชิกเป็นพื้นที่ส่วนตัว ไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายยุ่งเกี่ยว (ถึงท่านแชมป์จะเป็นคนออกตังค์เพื่อพื้นที่ส่วนตัวทีว่าก็เถอะ)

ซึ่งเมื่อรวมเอาข้อดีจากทั้ง 4 ไซต์นี้มารวมกัน มันก็จะกลายเป็นชุมชนที่ทั้งผู้ก่อตั้งเว๊ปไซต์ และผู้ที่เป็นสมาชิกได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ผู้ก่อตั้งเว๊ปไซต์ก็จะสามารถกำหนดค่าโฆษณาที่หน้าแรกได้ อย่างที่ตัวเองต้องการ ยิ่งมีสมาชิกมากก็ยิ่งสามารถกำหนดค่าโฆษณาได้ที่อัตราสูง ๆ ขึ้นไป ในขณะที่สมาชิกเองก็สามารถหาผลประโยชน์จาก “เนื้อหา” ที่ตัวเองเขียนเอาไว้ (ซึ่งอยู่บน “พื้นที่” ที่จริง ๆ แล้วเป็นของผู้ก่อตั้งเว๊ปไซต์) ผ่านโฆษณาที่ตัวเองเอามาติด โดยไม่เลือกว่าโฆษณาที่เอามาติด มันจะเป็น Adsense, AdBrite, Text Link Ads หรือ นิภา

เรื่องผลประโยชน์ระหว่างผู้ก่อตั้งเว๊ปไซต์กับสมาชิก จริง ๆ แล้วควรอธิบายด้วยทฤษฎีเกมส์ แต่ผมเองไม่ใช่เซียนทางด้านนี้ ก็หวังว่าท่านสุมาอี้หากมีเวลาว่าง ๆ คงจะให้ความกรุณาแต่งหนังสือซักเล่มนึง เพื่อมาอธิบายเรื่องพวกนี้ให้พวกเรารับทราบได้

โดยสรุปแล้วผมคิดว่า หากเราจัดสมดุลระหว่าง “อำนาจ” และ “ผลประโยชน์” ได้ ชุมชนออนไลน์ก็สามารถเจริญก้าวหน้าขึ้น และมีข้อพิพาทน้อยลงครับ

[tags]คอมพิวเตอร์,ซอฟต์แวร์,การจัดการ,โมเดล,อำนาจ,ผลประโยชน์[/tags]

Related Posts

3 thoughts on “โมเดลใหม่ (2)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *