เราต้องมาทราบความหมายก่อนว่า “จารกรรม” นั้นมันหมายความว่ายังไง? และที่สำคัญเราต้องแยกมันออกจากคำว่า “โจรกรรม” ด้วย เพราะถึงวัตถุประสงค์ในการลงมือจะเหมือนกัน แต่นิยามอันสลับซับซ้อนซึ่งเป็นแก่นแท้ของมันนั้นมันไม่เหมือนกัน
การ “โจรกรรม” ทั้งหมดล้วนมุ่งหวังต่อการ “ขโมย” ทรัพย์สินเป็นสำคัญ และหวังผลเป็นเลิศว่าทรัพย์สินที่ “ขโมย” มาได้ จะสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด เพื่อนำไปใช้สอยตามความต้องการของตนเองได้ และส่วนใหญ่แล้วเราก็มักจะเรียกบุคคลากรที่ทำการ “โจรกรรม” ว่า “หัวขโมย”, “ขโมย” หรือ “โจร” เป็นต้น
ส่วนการ “จารกรรม” นั้นต่างกัน เพราะสิ่งมุ่งหวังของการ “จารกรรม” คือ การ “ขโมย” ข่าวสารและสารสนเทศที่ตนเองไม่รู้ อีกทั้งหวังผลเป็นเลิศว่าข่าวสารหรือสารสนเทศที่ได้รู้มานั้น จะสามารถนำไปใช้เพื่อตัดสินใจ “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” ในบางสิ่งบางอย่าง เพื่อสร้างโอกาสอันเป็นเลิศของตนเองได้ในอนาคต และส่วนใหญ่แล้วเราก็มักจะเรียกบุคคลากรที่ทำการ “จารกรรม” ว่า “จารชน”
สำหรับเมืองไทยเรา ถ้าเป็นสมัยก่อนแล้วล่ะก็ การจารกรรมข้อมูลยังถือว่าเอาผิดไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยน เรามีกฎหมายที่ชี้ชัดโป้ง ๆ ลงไปเลยว่า การจารกรรมข้อมูลถือว่าเป็นความผิด แถมกฎหมายยังเขียนไว้กว้างมาก มากจนกระทั่งถ้าเราจารกรรมข้อมูลของตนเอง เราก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับความผิดเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ผมไปเจาะเลือดเพื่อตรวจเลือด ห้องปฏิบัติการเมื่อได้เลือดไปแล้วก็ตรวจในทุก ๆ หัวข้อที่จะตรวจได้ แต่เนื่องจากผมเลือกที่จะรู้ผลเพียงบางหัวข้อ และได้ชำระเงินเพื่อที่จะรู้ผลเพียงบางหัวข้อดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้นทางห้องปฏิบัติการจึงเพียงแจ้งผลเฉพาะหัวข้อที่ผมเลือกเท่านั้น ซึ่งหากภายหลังผมต้องการรู้เพิ่ม และไม่อยากเสียตังค์เพิ่ม แล้วตัดสินใจง่าย ๆ ด้วยการแอบเข้าไปขโมยผลตรวจเลือดในทุก ๆ หัวข้อของตนเอง … ก็อาจเป็นความผิดได้
ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงอะไรบางอย่าง ซึ่งสิ่งนั้นก็คือสิทธิเหนือข้อมูลส่วนบุคคล เราจะเห็นว่าถึงแม้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลของเรานั้น มันเป็นของเรา แต่ด้วยธุรกรรมหรือกิจกรรมอะไรบางอย่าง บางครั้งมันก็ทำให้ผู้อื่นมีสิทธิที่จะถือครองข้อมูลส่วนบุคคลของเราได้ และการลักลอบเข้าไปขโมยเอาข้อมูลของตัวเราเองออกมา มันก็กลายเป็นเรื่องโอล่ะพ่อ กลายเป็นความผิดได้เหมือนกัน
มีอยู่กรณีนึงนะอันนี้ถือว่าคลาสสิคมาก เป็นการจารกรรมข้อมูลในวงการธุรกิจที่แนบเนียนดี ว่าจะโม้ให้อ่านกันหน่อย …
เรื่องมันมีอยู่ว่า มีบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตใหญ่โตระดับโลกบริษัทนึง เขาปวดกะบาลกับเรื่องง่าย ๆ เรื่องนึงนั่นก็คือ บริษัทของเขารุกคืบเข้ามาให้บริการบัตรเครดิตในประเทศไทย แต่เนื่องจากติดขัดในกฎหมายและอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง ดังนั้นเขาก็เลยจำเป็นต้องให้ธนาคารพาณิชย์ไทย รวมถึงธนาคารพาณิชย์สัญชาติอื่นที่มาตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นนายหน้า เพื่อทำหน้าที่ผ่องถ่ายบริการบัตรเครดิตให้แทน
ดังนั้นถ้าเราสังเกตุกันดี ๆ ก็จะพบว่าบัตรเครดิตที่พวกเราใช้กันอยู่นั้น จะแปะยี่ห้อของธนาคารพาณิชย์ที่เราเป็นลูกค้าซะใหญ่โตเต็มบัตร ในขณะที่โลโก้ของผู้ให้บริการบัตรเครดิตระดับโลก จะถูกวางแปะเอาไว้มุม ๆ ของบัตร ถูกแมะ???
ทีนี้เราก็จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วเราไม่ได้เป็นลูกค้าของบริษัทบัตรเครดิตตรง ๆ พวกเราน่ะเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ต่างหาก ดังนั้นก็หมายความว่าข้อมูลส่วนบุคคลของเราก็ถูกลงทะเบียนอยู่กับธนาคารพาณิชย์ใช่มั้ยล่ะ? แล้วบริษัทที่ให้บริการบัตรเครดิตได้ข้อมูลอะไรไปล่ะ???
ความจริงก็คือบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตมีข้อมูลลูกค้าอยู่ในมือแบบแนวกว้างเท่านั้น ไม่มีแบบแนวลึกเลย เพราะเขามีแต่ข้อมูล 1) หมายเลขบัตรเครดิต, 2) วงเิงิน, 3) วงเงินคงเหลือ และ 4) รายการใช้จ่าย ส่วนลูกค้าเจ้าของบัตรชื่อสกุลอะไร, ที่อยู่อยู่ที่ไหน, เบอร์มือถือเบอร์อะไร เขาไม่มีซักอย่าง
เราอาจจะเห็นว่าไม่เห็นจะมีอะไรยาก ก็ให้บริษัทบัตรเครดิตขอข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ที่ตัวเอง party ด้วยก็หมดเรื่อง ซึ่งพอเอาเข้าจริงแล้ว เหอะ ๆ มันทำไม่ได้ เนื่องจากข้อมูลของลูกค้าธนาคารพาณิชย์นั้น ได้รับความคุ้มครองโดยพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยส่งเดชได้ ถึงแม้ว่าจะเป็น party กันก็ตาม แป่ว!!!
หลังจากคิดไปแปดสิบตลบ ในที่สุดเบอร์หนึ่งของบริษัทบัตรเครดิตประจำประเทศไทยก็คิดออก ว่าจะเอาข้อมูลของลูกค้ามาเก็บเอาไว้ เพื่อเอาไปทำการตลาดต่อไปยังไงดี ว่าแล้วก็เรียกบริษัทที่ทำ Outsource CRM เข้ามาคุยด้วย โดยบอกเงื่อนไขแบบไม่ปิดบังว่า ตัวเองนั้นไม่มีข้อมูลลูกค้าอยู่เลย จึงทำการตลาดอะไรต่อไม่ได้ อยากให้บริษัทที่ทำ Outsource CRM ช่วยมาต่อจิ๊กซอว์ตรงนี้ให้หน่อย
ว่าแล้วเบอร์หนึ่งของบริษัทบัตรเครดิต ก็สาธยายแผนการจารกรรมข้อมูลลูกค้าของตนเองว่า เขาจะทำกิจกรรมกระตุ้นการตลาด โดยการใช้ภาพยนตร์เรื่อง “เจมส์บอนด์พยัคฆ์ร้าย 007” เป็นจุดขาย โดยจะว่าจ้างให้พระเอกของเรื่องดังกล่าว และว่าจ้างจางซิยี่นางเอกจีนชื่อดัง เพื่อเข้ามาถ่ายทำโฆษณาสั้น ๆ ในประเทศไทย
โดยเนื้อเรื่องของโฆษณาจะประมาณว่าพระเอกจะรีบไปให้ทันนัดสำคัญบางอย่าง แต่รถติดก็เลยต้องจ้างคนขับตุ๊ก ๆ (ดาราคนไทยที่เป็นผู้ชายปากกว้าง ๆ) ให้มาขับสามล้อตุ๊ก ๆ บรรทุกเจมส์บอนด์ตะลุยไปตามถนนเมืองไทย เพื่อไปให้ทันนัดสาวให้จงได้ โดยโฆษณาจะจบลงที่พระเอกให้รางวัลแก่คนขับสามล้อตุ๊ก ๆ โดยการมอบบัตรเครดิตให้ไปใช้รูดปรึ๊ด ๆ ตามสะดวก
และเพื่อให้ลูกค้าของบัตรเครดิตมีโอกาสร่วมสนุก และได้รับรางวัลเหมือนกับคนขับรถตุ๊ก ๆ ในโฆษณา ก็ขอให้ลูกค้าโทรศัพท์เข้ามาที่ Call Center พร้อมทั้งให้ข้อมูลของตนเองแก่ Call Center เพื่อที่บริษัทบัตรเครดิตจะได้นำข้อมูลของลูกค้า ไปเป็นส่วนหนึ่งเพื่อใช้จับรางวัล และจะประกาศรายชื่อผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลให้ทราบต่อไป
ผมฟังจนจบแล้วก็หัวเราะหึ ๆ พร้อมทั้งคิดในใจว่ากูรู้แล้ว ว่าท่านเบอร์หนึ่งต้องการอะไร และก็เป็นดังคาด บริษัท Outsource CRM ดังกล่าว ต้องรับงานในส่วนของ Call Center มา โดยมีงานใหญ่เป้ง ๆ อยู่เพียง 2 เรื่องเท่านั้น นั่นก็คือ
- คิด workflow ออกมา เพื่อจะได้ให้เจ้าหน้าที่ Call Center รีดข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าบัตรเครดิตมาเก็บไว้ให้ได้มากที่สุด โดยที่ลูกค้าไม่ได้รู้สึกว่าเสียเวลาหรือรำคาญกับการที่จะต้องถูกถามข้อมูลอันแสนจะเซ้าซี้ และ
- เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่ได้มาทั้งหมดเอาไว้ รวบรวมให้สะอาดหมดจดและสมบูรณ์ พร้อมทั้งส่งมอบให้กับบริษัทบัตรเครดิตเมื่อจบกิจกรรมแล้ว โดยไม่สนใจว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้ ฐานข้อมูลที่ใช้ หรือแม้กระทั่ง server ที่ใช้นั้นจะเป็นยี่ห้ออะไร
ตอนจบของเรื่องนี้ถือว่าชนะกันทุกฝ่าย เพราะบริษัทบัตรเครดิตได้ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปถึง 80% ของลูกค้าทั้งหมดที่มี (แสดงให้เห็นว่าคนใช้บัตรเครดิตนี่โลภกันจัง เห็นมีกิจกรรมได้ของฟรีอะไรก็เล่นด้วยทั้งนั้น) ในขณะที่บริษัท Outsource CRM ก็ได้ตังค์ไปใช้ แถมได้หน้าได้เครดิตว่าเคยทำงานให้กับบริษัทบัตรเครดิตระดับโลกอีกด้วย
จะมีก็แต่ลูกค้าบัตรเครดิตยี่ห้อนี้เท่านั้นแหล่ะ ที่ไม่รู้ว่ากิจกรรมการตลาดที่ทำออกมาตั้งมากมายนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เพียงต้องการจารกรรมข้อมูลของลูกค้าเท่านั้นเอง!!!
บางครั้งคนเราก็ยอมออกแรงโค่นต้นไม้ใหญ่ทั้งต้น เพียงเพราะหวังจะได้รังนกซึ่งมีนกตัวเล็ก ๆ อยู่บนยอดไม้เท่านั้นเอง
[tags]จารกรรม,ข้อมูล,ขโมย,โจรกรรม,ข้อมูลส่่วนบุคคล,call center, crm, บัตรเครดิต[/tags]
ผมขอถามในฐานะคนที่ใช้บัตรเครดิตคนหนึ่งครับ
คำถามคือ
ถ้าหากผมโทรไปร่วมสนุกและให้ข้อมูลกับทางเจ้าของบัตรอย่างที่ว่า…แล้วมันจะเกิดผลดีผลเสียกับผมอย่างไรบ้างครับ
วิเคราะห์ได้ดีมากครับ..
ตอนนั้นผมเป็นกลุ่ม 20% ที่เหลือที่ไม่ได้ร่วมเพราะไม่อยากให้ข้อมูล เพราะเห็นว่าทางเค้าต้องการแค่ข้อมูลโดยที่ไม่ได้อะไรเลยซึ่งมันส่อ อีกอย่างผมถือคติว่าถ้าเค้าทำโปรโมชั่นออกมาโดยไม่ได้มีข้อมูลเราด้วย ส่วนใหญ่ผมจะปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลไป เพราะข้อมูลเราไม่ได้ถูกรับประกันด้วยแบรนด์เลย แต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะซับซ้อนกว่ามากกว่าที่คิดไปเยอะขนาดนี้ครับ
เพิ่งรู้จริงๆครับ ว่าระบบมันเป็นแบบนี้อยู่
แต่สงสัยว่าบริษัทบัตรเครดิคจะรู้ได้ยังไงว่าข้อมูลที่ได้มานั้นถูกต้องจริงๆ
แต่ที่ผมเจอคือ ธนาคารที่ผมใช้บริการอยู่เอาเบอร์และชื่อไปขาย
ประกัน สินเชื้อ และอื่นๆ โทรมาเพียบ แม้บัตรที่ผมยกเลิกไปนานแล้ว ยังมีโทรมา เลยตอบไปว่า ผมเลิกใช้บัตรใบนี้แล้วครับ ขอบคุณครับ
อิอิ
สนุกมากเลยครับ ลึกลับซับซ้อนจริงๆ
ขอบคุณครับที่เปิดโลกให้ได้อ่าน
คุณ ixiu จะไม่ได้รับผลดีหรือผลเสียใด ๆ ครับ
แสดงว่าคุณ ampz มีญาณวิเศษ จึงได้นกรู้ว่าเขาจะทำอะไรแปลก ๆ แบบนี้ อิ อิ แต่มันก็ซับซ้อนกว่าที่คิดจริง ๆ นั่นแหล่ะ
เขาก็ต้องยอมรับความเสี่ยงตรงนั้นไปครับคุณ tomoomoo เป็นการวัดดวงกัน เพราะหากว่าลูกค้ามีความโลภ อยากจะได้ของรางวัล พวกเขาย่อมต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงแน่ เพราะหากได้รางวัลขึ้นมา แต่ไม่สามารถแสดงตนเพื่อรับรางวัลได้ เนื่องจากข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็ถือว่าเขาเสียผลประโยชน์ไปครับ
เพราะปัจจุบันมีกฎหมายข้อมูลเครดิตแล้วครับ ทำให้สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก ต้องส่งข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลเครดิตของลูกค้าไปยัง “บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด” เมื่อเป็นแบบนี้ ข้อมูลลูกค้าจึงถูกเข้าถึงได้จากสถาบันการเงินทุกแห่งที่เป็นสมาชิกกับบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็น ประกัน, สินเชื่อ, ผ่อนทรัพย์ ฯลฯ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นสมัยก่อน มันยังไม่มีกฎหมายข้อมูลเครดิตครับ และไม่มี “บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด” ด้วย ก็เลยต้องเกิดอุบาย “จารกรรมข้อมูลของตนเอง” ดังกล่าวขึ้นมา … นี่ก็ถือว่าผมเอาเรื่องเก่าเมื่อเกือบสิบปีก่อน มาเล่าให้อ่านกันอ่ะครับคุณ patr
เปิดฟ้าส่องโลกครับคุณเอ อิ อิ
โห…ลึกซึ้งมากเลยครับ ผมก็ไม่เคยทำบัตรเครดิตด้วยซิ แต่ถือว่าได้ความรู้ทีเดียว
เยี่ยม